วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

สัญญลักษณ์ฉลองอุบลราชธานี ๒๒๒ ปี


คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน


คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน
            วรรณกรรมแห่งชาติมีคุณค่าต่อประชาคมในชาติอย่างไร วรรณกรรมพื้นบ้าน ก็มีคุณค่า
ต่อประชาคมท้องถิ่นอย่างนั้น  คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน อาจสรุปได้ ดังนี้ (มนัส สุขสาย. ๒๕๔๔ ก : ๒๐๖)
            . คุณค่าทางการถ่ายทอดภูมิปัญญา  วรรณกรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในท้องถิ่น ซึ่งแสดงออกทางด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ คติชีวิต เป็นต้น  แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง
            .  คุณค่าทางสันทนาการ  วรรณกรรมพื้นบ้าน มีรูปแบบที่สามารถให้ความบันเทิง ทั้งด้านอรรถรสทางภาษาและเนื้อเรื่อง เช่น นิทานคำกลอนต่างๆ สามารถนำมาขับร้องเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ เป็นต้นแบบที่ศิลปินอีสานนำมาเป็นอาชีพได้ เช่นหมอลำต่างๆ ก็ใช้พื้นฐานทางวรรณกรรมในการเรียบเรียงทั้งเนื้อเรื่องและฉันทลักษณ์
            .  คุณค่าในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  ถือเป็นประเพณีของอีสาน ในการสูดขวัญ เช่นการแต่งงาน  ขึ้นบ้านใหม่  สูดขวัญผู้ป่วย ตลอดจนการแสดงความยินดี การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง  จะมีการสูดขวัญด้วยคำกลอนอีสานทั้งสิ้น  นับเป็นจิตวิทยาชั้นสูงที่ปราชญ์โบราณได้คิดค้นขึ้น ถือเป็นประเพณีสืบมา  หมอสูด (ชาวบ้านมักเรียกว่า "พ่อพราหมณ์" )  บางคนมีใบลานอ่านประกอบเพื่อให้เกิดความขลัง และใบลานนั้นมักจารด้วย "อักษรธรรม"
            .  คุณค่าในการอบรมสั่งสอน  มีวรรณกรรมหลายเรื่องที่มีเนื้อหาในการสั่งสอน ให้คติเตือนใจ ให้แนวทางในการดำรงชีวิตให้มีความสุข อันเป็นคำสอนที่อิงหลักพุทธศาสนา  แทรกอยู่ในวรรณกรรมอย่างแยบยล ผู้ฟังจึงได้รับทั้งความบันเทิงและความคิดที่ดีงามไปในขณะเดียวกัน
.  คุณค่าในทางประวัติศาสตร์  มีวรรณกรรมจำนวนมากที่กล่าวถึงตำนานต่างๆ อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง เช่น ตำนานขุนบรม ตำนานอุรังคธาตุ (ประวัติพระธาตุพนม) ท้าวฮุ่งท้าวเจือง พื้นเมืองอุบล เป็นต้น หรือแม้แต่นิทานก้อมกันยักษ์ ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของขบถผีบุญที่โด่งดังในภาคอีสานเมื่อ ปี พ.. ๒๔๔๔ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ดังตอนหนึ่งกล่าวว่า
"...ถึงกลางเดือน ๖ ปีฉลู หินแฮ่จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ฟักเขียว ฟักทองจะกลายเป็นช้างเป็นม้า ควายเผือกและหมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน ท้าวธรรมิกราชจะมาเป็นใหญ่ ใครอยากพ้นเหตุร้าย ให้คัดลายแทงบอกต่อๆ กันไป..." (ธนาคม. ๒๕๔๒ : ๒๒)
อันเป็นการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง  ทางการต้องใช้เวลาปราบปรามหลายเดือน พวกขบถถูกจับมาจองจำที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และถูกประหารชีวิต เหตุการณ์จึงสงบลง  จากเหตุการณ์นี้ จึงมีกฎหมายห้ามประชาชนนับถือภูตผีในเวลาต่อมา 

การสืบสานวรรณกรรม
            วิธีการสืบทอดวรรณกรรมพื้นบ้านอาจทำได้หลายวิธี เช่น
            .  สืบทอดทางมุขปาฐะ คือการสืบทอดต่อกันมาด้วยปาก กล่าวคือ เล่าเรื่องราวต่างๆ สืบต่อกันมา เช่นผู้สูงอายุเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง เป็นต้น
            .  สืบทอดด้วยลายลักษณ์ เป็นวิธีการใหม่ที่ต้องอาศัยวิชาการทางหนังสือ กล่าวคือ ผู้รู้ได้จดจารลงในหนังสือใบลาน  สมัยต่อมาก็ได้ปริวรรต และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ ในปัจจุบันได้มีการตีพิมพ์วรรณกรรมพื้นบ้านแล้วหลายเรื่อง เช่น นางผมหอม  นางแตงอ่อน  กาฬเกษ  สังข์สินชัย  ท้าวสุริยวงศ์  เสียวสวาสดิ์  เป็นต้น  แต่ส่วนใหญ่ จะพิมพ์ด้วยอักษรไทยกลาง
            .  สืบทอดด้วยการแสดงมหรสพ  ในปัจจุบันมีการนำวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดงต่อ
สาธารณชน ในรูปมหรสพต่างๆ เช่น หมอลำ เพลงลูกทุ่ง รวมทั้งการถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
            . สืบทอดด้วยการศึกษาเล่าเรียน ในสมัยโบราณ ประชาชนส่วนใหญ่ รับรู้วรรณกรรมจากการฟัง (มุขปาฐะ) ผู้ที่มีโอกาสได้ "อ่าน" คือผู้ที่บวชเรียนเท่านั้น จึงทำให้การสืบสานทำได้ในวงแคบ  การนำวรรณกรรมและภาษาท้องถิ่นมาสอนในโรงเรียน ให้ทุกคนได้เรียนรู้ จึงเป็นทางหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา
            ในปัจจุบัน การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (อินเตอร์เน็ท) สามารถทำได้รวดเร็วและกว้างไกลไปทั่วโลก จึงน่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่และสืบสานวรรณกรรมพื้นบ้าน
ประชาคมใดที่ไม่มีอักษรสื่อสาร และจารึกวรรณกรรมของตนเองนั้น  เป็นการยากที่จะรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ยั่งยืน  อาจจะถูกกลืนด้วยอารยธรรมที่สูงกว่า และสาบสูญไปในที่สุด จึงเป็นความโชคดีของชาวไทยอีสานที่บรรพบุรุษมีตัวอักษรและจารึกวรรณกรรมไว้มากมาย สมควรที่ลูกหลานจะ สืบฮอยตา วาฮอยปู่)  ด้วยการศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่สืบไป