คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน
วรรณกรรมแห่งชาติมีคุณค่าต่อประชาคมในชาติอย่างไร
วรรณกรรมพื้นบ้าน ก็มีคุณค่า
ต่อประชาคมท้องถิ่นอย่างนั้น คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน อาจสรุปได้ ดังนี้ (มนัส สุขสาย. ๒๕๔๔ ก : ๒๐๖)
๑. คุณค่าทางการถ่ายทอดภูมิปัญญา วรรณกรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในท้องถิ่น
ซึ่งแสดงออกทางด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ คติชีวิต เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง
๒. คุณค่าทางสันทนาการ วรรณกรรมพื้นบ้าน
มีรูปแบบที่สามารถให้ความบันเทิง ทั้งด้านอรรถรสทางภาษาและเนื้อเรื่อง เช่น
นิทานคำกลอนต่างๆ สามารถนำมาขับร้องเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ
เป็นต้นแบบที่ศิลปินอีสานนำมาเป็นอาชีพได้ เช่นหมอลำต่างๆ
ก็ใช้พื้นฐานทางวรรณกรรมในการเรียบเรียงทั้งเนื้อเรื่องและฉันทลักษณ์
๓. คุณค่าในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ถือเป็นประเพณีของอีสาน
ในการสูดขวัญ เช่นการแต่งงาน
ขึ้นบ้านใหม่ สูดขวัญผู้ป่วย
ตลอดจนการแสดงความยินดี การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จะมีการสูดขวัญด้วยคำกลอนอีสานทั้งสิ้น
นับเป็นจิตวิทยาชั้นสูงที่ปราชญ์โบราณได้คิดค้นขึ้น
ถือเป็นประเพณีสืบมา หมอสูด (ชาวบ้านมักเรียกว่า "พ่อพราหมณ์"
) บางคนมีใบลานอ่านประกอบเพื่อให้เกิดความขลัง
และใบลานนั้นมักจารด้วย "อักษรธรรม"
๔. คุณค่าในการอบรมสั่งสอน
มีวรรณกรรมหลายเรื่องที่มีเนื้อหาในการสั่งสอน ให้คติเตือนใจ
ให้แนวทางในการดำรงชีวิตให้มีความสุข อันเป็นคำสอนที่อิงหลักพุทธศาสนา แทรกอยู่ในวรรณกรรมอย่างแยบยล
ผู้ฟังจึงได้รับทั้งความบันเทิงและความคิดที่ดีงามไปในขณะเดียวกัน
๕. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
มีวรรณกรรมจำนวนมากที่กล่าวถึงตำนานต่างๆ
อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง เช่น ตำนานขุนบรม ตำนานอุรังคธาตุ (ประวัติพระธาตุพนม) ท้าวฮุ่งท้าวเจือง พื้นเมืองอุบล
เป็นต้น หรือแม้แต่นิทานก้อมกันยักษ์
ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของขบถผีบุญที่โด่งดังในภาคอีสานเมื่อ ปี พ.ศ.
๒๔๔๔ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ดังตอนหนึ่งกล่าวว่า
"...ถึงกลางเดือน ๖ ปีฉลู
หินแฮ่จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ฟักเขียว ฟักทองจะกลายเป็นช้างเป็นม้า
ควายเผือกและหมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน ท้าวธรรมิกราชจะมาเป็นใหญ่
ใครอยากพ้นเหตุร้าย ให้คัดลายแทงบอกต่อๆ กันไป..." (ธนาคม. ๒๕๔๒ :
๒๒)
อันเป็นการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ทางการต้องใช้เวลาปราบปรามหลายเดือน
พวกขบถถูกจับมาจองจำที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และถูกประหารชีวิต
เหตุการณ์จึงสงบลง จากเหตุการณ์นี้
จึงมีกฎหมายห้ามประชาชนนับถือภูตผีในเวลาต่อมา
การสืบสานวรรณกรรม
วิธีการสืบทอดวรรณกรรมพื้นบ้านอาจทำได้หลายวิธี
เช่น
๑. สืบทอดทางมุขปาฐะ คือการสืบทอดต่อกันมาด้วยปาก กล่าวคือ เล่าเรื่องราวต่างๆ สืบต่อกันมา
เช่นผู้สูงอายุเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง เป็นต้น
๒. สืบทอดด้วยลายลักษณ์ เป็นวิธีการใหม่ที่ต้องอาศัยวิชาการทางหนังสือ กล่าวคือ
ผู้รู้ได้จดจารลงในหนังสือใบลาน
สมัยต่อมาก็ได้ปริวรรต และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ ในปัจจุบันได้มีการตีพิมพ์วรรณกรรมพื้นบ้านแล้วหลายเรื่อง
เช่น นางผมหอม นางแตงอ่อน กาฬเกษ
สังข์สินชัย ท้าวสุริยวงศ์ เสียวสวาสดิ์
เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่
จะพิมพ์ด้วยอักษรไทยกลาง
๓. สืบทอดด้วยการแสดงมหรสพ
ในปัจจุบันมีการนำวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดงต่อ
สาธารณชน ในรูปมหรสพต่างๆ เช่น หมอลำ เพลงลูกทุ่ง รวมทั้งการถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
สาธารณชน ในรูปมหรสพต่างๆ เช่น หมอลำ เพลงลูกทุ่ง รวมทั้งการถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
๔. สืบทอดด้วยการศึกษาเล่าเรียน ในสมัยโบราณ ประชาชนส่วนใหญ่ รับรู้วรรณกรรมจากการฟัง (มุขปาฐะ) ผู้ที่มีโอกาสได้ "อ่าน" คือผู้ที่บวชเรียนเท่านั้น
จึงทำให้การสืบสานทำได้ในวงแคบ
การนำวรรณกรรมและภาษาท้องถิ่นมาสอนในโรงเรียน ให้ทุกคนได้เรียนรู้
จึงเป็นทางหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา
ในปัจจุบัน
การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (อินเตอร์เน็ท)
สามารถทำได้รวดเร็วและกว้างไกลไปทั่วโลก
จึงน่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่และสืบสานวรรณกรรมพื้นบ้าน
ประชาคมใดที่ไม่มีอักษรสื่อสาร
และจารึกวรรณกรรมของตนเองนั้น
เป็นการยากที่จะรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ยั่งยืน อาจจะถูกกลืนด้วยอารยธรรมที่สูงกว่า
และสาบสูญไปในที่สุด จึงเป็นความโชคดีของชาวไทยอีสานที่บรรพบุรุษมีตัวอักษรและจารึกวรรณกรรมไว้มากมาย
สมควรที่ลูกหลานจะ สืบฮอยตา วาฮอยปู่) ด้วยการศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่สืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น