ใบความรู้เรื่อง
คำซ้อน
คำซ้อน หมายถึง การนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นมาเรียงต่อกัน โดยแต่ละคำนั้นมีความสัมพันธ์กันในด้านความหมาย อาจเป็นความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน ทำนองเดียวกันหรือตรงกันข้ามก็ได้
ความหมายเหมือนกัน หมายถึง คำที่นำมาซ้อนกันนั้นมีความหมายถึงสิ่งเดียวกันหรือเป็นอย่างเดียวกัน เช่น
เร็วไว ใหญ่โต ดูแล นุ่มนิ่ม ทรัพย์สิน
สูญหาย หยาบช้า เลือกสรร บ้านเรือน ป่าดง
ความหมายคล้ายกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน หมายถึง คำที่นำมาซ้อนกันนั้น มีความหมายใกล้เคียงกัน พอที่จะจัดเข้าในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น
อ่อนนุ่ม เล็กน้อย ไร่นา แข้งขา ใจคอ
ยักษ์มาร ศีลธรรม ภาษีอากร หูตา ฝนฟ้า
ความหมายตรงกันข้าม หมายถึง คำที่นำมาช้อนกันนั้นมีความหมายเป็นคนละลักษณะหรือคนละฝ่ายกัน เช่น
ใกล้ไกล ผิดถูก ชั่วดี เหตุผล สูงต่ำดำขาว
ตัดเป็นตัดตาย ทีหน้าทีหลัง ตื้นลึกหนาบาง ผิดชอบ ดีเลว
หลักการพิจารณาคำซ้อน มีดังนี้
๑. จำนวนคำในคำซ้อน
เมื่อพิจารณาจำนวนคำที่นำมาซ้อนกันอาจมี ๒ คำ ๔ คำ หรือ ๖ คำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก. คำซ้อน ๒ คำ เช่น ช้างม้า บ้านเมือง ดูดดื่ม คุกตะราง
ลาล่อ กู้ยืม หูตา ภาษีอากร ปากคอ อยู่กิน
ข. คำซ้อน ๔ คำ แบ่งได้เป็น ๕ ลักษณะ คือ
๑. คำซ้อน ๔ คำเรียงกัน เช่น ช้างม้าวัวควาย กุ้งหอยปูปลา ตื้นลึกหนาบาง
๒. คำซ้อน ๔ คำ ประเภทมีสัมผัส เช่น ทุกข์โศกโรคภัย โบกปัดพัดวี อกไหม้ไส้ขม
ตีรันฟันแทง ใส่ร้ายป้านสี สอบสวนทวนความ รวบรัดตัดความ เย็บปักถักร้อย ยากดีมีจน
ข้าวยากหมากแพง เกี่ยวดองหนองยุ่ง ถ้วยโถโอชาม
๓. คำซ้อน ๔ คำ ประเภทซ้อนสลับ
คำซ้อนประเภทนี้ ส่วนประกอบแต่ละส่วน อาจเป็นคำซ้อนประเภท ๒ คำ หรือไม่ก็ได้ ซ้อนกันเป็น ๒ คู่ โดยคำแรกและคำหลังของแต่ละคู่มีความหมายเหมือนกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน หรือมีความหมายตรงข้ามเป็นคู่ ๆ สลับกัน เช่น
หน้าชื่นอกตรม ปากหวานก้นเปรี้ยว ผิดชอบชั่วดี หนักนิดเบาหน่อย
๔. คำซ้อน ๔ คำ ประเภทคู่ซ้อนซ้ำ
คำซ้อนประเภทนี้ คำแรกของแต่ละคู่เป็นคำเดียวกัน ส่วนคำหลังจะมีความหมายเหมือนกันหรือไปในทำนองเดียวกัน เช่น
อ่อนอกอ่อนใจ มากหมอมากความ เป็นทุกข์เป็นร้อน
อดข้าวอดน้ำ ขยิบหูขยิบตา ชิงไหวชิงพริบ
น้ำหูน้ำตา ปากหอยปากปู อิ่มอกอิ่มใจ
๕. คำซ้อน ๔ คำ ประเภทคู่ช้อนต่าง
คำซ้อนประเภทนี้ คำแรกของแต่ละคู่เป็นคำเดียวกัน แต่คำหลังมีความหมายตรงกันข้าม เช่น
มิดีมิร้าย ไม่มากไม่น้อย ถือเขาถือเรา
โยนหัวโยนก้อย ผ่อนสั้นผ่อนยาว ตาบอดตาใส
๖. คำซ้อน ๖ คำ จะแบ่งเป็นส่วนละ ๓ คำ และมีเสียงคล้องจองระหว่างส่วนหน้ากับส่วนหลัง เช่น
คดในข้องอในกระดูก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน กำแพงมีหูประตูมีช่อง
อดตาหลับขับตานอน ขิงก็ราข่าก็แรง
๒. ที่มาของคำที่นำมาซ้อนกัน
คำที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำไทยซ้อนกับคำไทย คำไทยซ้อนกันคำต่างประเทศ หรือคำต่างประเทศซ้อนกันเอง
ก. คำไทยซ้อนกับคำไทย
๑. คำไทยมาตรฐานซ้อนกับคำไทยมาตรฐาน เช่น
กู้ยืม ปากคอ เดือดร้อน เย็บปัก บ้านเมือง ฝนฟ้า
๒. คำไทยมาตรฐานซ้อนกับไทยถิ่น เช่น
ไทยมาตรฐาน + ไทยถิ่น ไทยถิ่น + ไทยมาตรฐาน
เข็ดหลาบ อดทน
แก่เฒ่า แปดเปื้อน
เก็บงำ บาดแผล
ข่มเหง
ตัดสิน
พัดวี
ข. คำไทยซ้อนกับคำต่างประเทศ เช่น
๑. คำไทยซ้อนกับคำบาลีสันสกฤต เช่น
ไทย + บาลีสันสกฤต บาลีสันสกฤต + ไทย
ข้าทาส โจรผู้ร้าย
ศึกสงคราม อามิสสินจ้า
แก่นสาร ภูตผี
๒. คำไทยซ้อนกับคำเขมร เช่น
ไทย + เขมร เขมร + ไทย
ล้างผลาญ ทรวงอก
เขียวขจี แสวงหา
ฝาผนัง ครบถ้วน
เงียบสงัด ขจัดปัดเป่า
๓. คำไทยซ้อนกับคำภาษาจีน เช่น
ไทย + จีน จีน + ไทย
หุ้มส่วน ชื่อแซ่
ห้างร้าน ต้มตุ๋น
๔. คำไทยซ้อนกับภาษาอังกฤษ เช่น
ไทย + อังกฤษ อังกฤษ + ไทย
แบบแปลน ปูนซีเมนต์
แบบฟอร์ม
ค. คำต่างประเทศซ้อนกันเอง
ยักษ์มาร ศีลธรรม ประเทศชาติ ภาษีอากร สบถสาบาน ทุกข์โศกโรคภัย
ตำหนิติเตียน ละเอียดลออ กระจัดกระจาย
๓. ความหมายของคำซ้อน
ความหมายของคำซ้อนอาจแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
ก. ความหมายคงเดิม
คำซ้อนบางคำมีความหมายคงตามความหมายของคำที่มาซ้อนกัน คำซ้อนประเภทนี้มักเกิดจากคำยืม คำโบราณ คำภาษาถิ่น มาซ้อนกับภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน คำไทยมาตรฐานที่นำมาซ้อนนั้นจะช่วยแลความหมายของคำยืม คำโบราณ หรือคำภาษาถิ่นนั้นให้ชัดเจนขึ้น
ไทยมาตรฐาน + คำยืม
แก่ชรา เค้ามูล ดับสูญ ซากศพ ปลุกเสก
ไทยมาตรฐาน + คำโบราณ(ภาษาถิ่น)
บกพร่อง ห้ำหั่น หยาบช้า
ข. ความหมายใหม่
คำซ้อนที่มีความหมายใหม่มีหลายลักษณะ ดังนี้
๑. ความหมายกว้างขึ้น เช่น
ถ้วยชาม หมายถึง ถ้วย ชาม และภาชนะอย่างเดียวกันอื่น ๆ อีกด้วย
พี่น้อง หมายถึง พี่น้องรวมทั้งผู้ที่เป็นเชื้อสายเดียวกัน
ทุบตี หมายถึง การทำร้ายด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่เฉพาะทุบหรือตีเท่านั้น
ฆ่าฟัน หมายถึง การทำให้ตายด้วยอาวุธต่าง ๆ ไม่เฉพาะดาบ
เจ็บไข้ หมายถึง ไม่สบายเพราะสุขภาพไม่ดี
ข้าวปลา หมายถึง อาหารทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะเป็นข้าวหรือปลาเท่านั้น
๒. ความหมายแคบลง เช่น
ใจคอ เขตแดน ดื้อดึง ญาติโยม หน้าตา แข้งขา
ประเทศชาติ ส้มสูกลูกไม้ บาดแผล หูตา น้ำหูน้ำตา ว่านอนสอนง่าย
๓. ความหมายในเชิงอุปมา เช่น
เหลียวแล การเอาใจใส่เป็นธุระ
ค้ำจุน การพยุงฐานะ
ดูดดื่ม ความซาบซึ้งใจ
อ่อนหวาน ไม่กระด้าง ชุ่มชื่นใจ
ขวากหนาม อุปสรรค
๔. การใช้คำซ้อน
คำซ้อนเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของภาษาไทย ในภาษาไทยมีคำซ้อนใช้เป็นจำนวนมาก และยังปรากฎการสร้างคำซ้อนใหม่ขึ้นใช้อยู่เสมอ นักเขียนและกวีได้นำคำซ้อนมาใช้เพื่อสื่อความหมายที่ลึกซึ้งและเพื่อเอื้อต่อเสียงเสนาะในบทประพันธ์มาโดยตลอด
ในปัจจุบัน มีการสร้างคำซ้อนขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนแนวคิดใหม่ ๆ ในวงวิชาการต่าง ๆ หรือในวงการสื่อสารมวลชน เช่น อ้างอิง ถดถอย ยืดหยุ่น ผกผัน ปรับแต่ง ปรับปรน ลบเลือน ลื่นไหล รุ่มรวย เบียดขับ
คำซ้อนกลุ่มที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาซ้อนกันนั้น สะท้อนให้เห็นความรุ่มรวยของภาษาไทยประการหนึ่งคือ ภาษาไทยมีคำใช้บ่งชี้และแยกแยะสิ่งของหรือการกระทำอย่างละเอียดลออ เช่น ขวาก กับ หนาม ขวาก คือไม้หรือหลักแหลมมีปลายแหลมสำหรับปักหรือโปรยเพื่อดักหรือให้ตำผู้ผ่านเข้าไป ส่วน หนาม คือส่วนแหลม ๆ ทึ่งอกออกจากต้นหรือกิ่งของไม้บางชนิด เช่น หนามงิ้ว เมื่อนำ ขวาก กับหนาม มาซ้อนกันเป็น ขวากหนาม มีความหมายเชิงอุปมา หมายถึง อุปสรรค เครื่องกีดขวาง
คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เมื่อนำมาซ้อนกัน มักจะมีความหมายเชิงอุปมาบ้าง ความหมายเปลี่ยนไปบ้าง ไม่สามารถใช้แทนคำเดี่ยวคำใดคำหนึ่งที่นำมาซ้อนกันนั้นได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ถาก | ฟันเอาเปลือกหรือส่วนนอกออก | ถากเปลือก ถากเสา ถากไม้ |
ใช้จอบดายให้เตียน | ถากหญ้า ถากดิน | |
ถาง | ใช้มีดฟันให้เตียน | ถางหญ้า ถางป่า |
ถากถาง | ค่อนว่า มีเจตนาว่าให้เจ็บใจ | |
ซ่อม | ทำสิ่งชำรุดให้คืนดี | ซ่อมวิทยุ ซ่อมบ้าน |
แซม | เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหน็บแทรกหรือสอดเข้าไปเพื่อแทนสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น | แซมหลังคา |
ซ่อมแซม | แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมของที่ชำรุดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม |
ดังนั้นควรเอาใจใส่ในการเลือกใช้คำเดี่ยว และคำซ้อนเป็นพิเศษ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ในบริบทนั้นควรใช้คำเดี่ยวหรือคำซ้อนจึงจะสื่อความหมายได้ถูกต้อง เช่น
ความรักไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยพร้อมเพรียงกันทั้งสองฝ่าย
ข้อความนี้ ควรใช้คำ พร้อม มิใช่ พร้อมเพรียง
ในบทนี้ ผู้วิจัยขอแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็น ๔ หัวข้อ
ข้อความนี้ ควรใช้คำ แบ่ง หรือ แยก คำใดคำหนึ่ง มิใช่ แบ่งแยก
หมีแพนด้าสามารถเรียกร้องความสนใจผู้เข้าชม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี
ข้อความนี้ ควรใช้คำ เรียกความสนใจ มิใช่ เรียกร้องความสนใจ
นอกจากนี้ พึงสังเกตว่าคำซ้อนบางคำอาจวางสับคำกันได้ บางคำสับที่กันแล้วมี ความหมายคงเดิม บางคำสับที่กันแล้วมีความหมายต่างไป ดังนี้
ความหมายคงเดิม
ว้าเหว่ – เหว่ว้า , เปล่าเปลี่ยว - เปลี่ยวเปล่า , เหงาหงอย – หงอยเหงา
ความหมายต่างกัน
หนาแน่น คับคั่ง แออัด
แน่นหนา มั่นคง แข็งแรง
อยู่กิน ดำรงชีวิตฉันสามีภรรยา
กินอยู่ พักอาศัย
แหลกเหลว ป่นปี้ ไม่มีชิ้นดี
เหลวแหลก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
-----------------------------------
สุดยอดคือใบอ่อนสุดยอดแหล่งเรียนรู้คับ
ตอบลบสุดยอดแหล่งเรียนรู้
ตอบลบ