ใบความรู้เรื่อง
คำประสม
คำประสม หมายถึงคำที่เกิดจากการนำคำหรือหนว่ยคำที่มีความหมายต่างกันอย่างน้อย ๒ หน่วยขึ้นไปมารวมกัน เกิดเป็นคำใหม่คำหนึ่ง มีความหมายเฉพาะตามที่กำหนด
๑. หลักการสังเกตคำประสม
ให้นักเรียนพิจารณาคำที่ขีดเส้นใต้ในประโยคต่อไปนี้
ก. วีนาไปตัดเสื้อตัวใหม่มา
ข. วีนาตัดเสื้อของมานีขาด
ค. เพลงพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ไว้
ง. น้องถูพื้นบ้านจนสะอาด
คำ ตัดเสื้อ ในข้อ ก และคำพื้นบ้าน ในข้อ ค เป็นคำประสม เพราะคำเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าแล้ว
เกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายเฉพาะ ดังนี้
ตัดเสื้อ หมายถึง ตัดผ้าให้สำเร็จเป็นเสื้อ
พื้นบ้าน หมายถึง ของเฉพาะถิ่น เช่นของพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน
ส่วนคำ ตัดเสื้อ ในข้อ ข และคำ พื้นบ้าน ในข้อ ง ไม่ใช่คำประสม เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้เกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายเฉพาะ แต่มีความหมายตรงตามรูปคำ มีโครงสร้างเป็นวลี (กลุ่มคำ) สามารถสับคำหรือย้ายตำแหน่งคำได้ หรือแทรกคำอื่นได้ โดยมีความหมายเหมือนเดิม เช่น
คำประสมอาจพิจารณาได้โดยใช้หลักดังต่อไปนี้
๑. คำประสมจะมีความหมายใหม่เป็นความหมายเดียว มีเค้าความหมายของคำหรือหน่วยคำที
รวมกันนั้น เช่น
ผ้าขี้ริ้ว เป็นคำประสม มีความหมายเป็นคำเดียวว่า ผ้าเก่า ขาดที่ใช้ขัดถูพื้นเป็นความหมายใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิม คือ ผ้า และไม่สวยไม่งาม เช่น
Ø แจ๋วไปเอาผ้าขี้ริ้วมาเช็ดพื้นหน่อย
Ø ผลงานของเธอยังกับผ้าขี้ริ้ว
ผ้าขี้ริ้ว เป็นคำประสมอีกคำหนึ่ง มีความหมายว่า กระเพาะของสัตว์จำพวก วัว ควาย มีลักษณะกะรุ่งกะริ่งเหมือนผ้าขี้ริ้ว เช่น
Ø นงนุชชอบรับประทานยำผ้าขี้ริ้ว
๒. คำประสมจะแรกคำใด ๆ ลงระหว่างคำหรือหน่วยคำที่มารวมกันนั้นไม่ได้ เช่น
ลูกช้างเดินตามแม่ แปลว่า ลูกของแม่ช้าง สามารถแทรกคำว่า ของระหว่าง ลูกกับช้างได้ใน
ประโยคนี้จึงไม่ใช่คำประสม
เจ้าแม่ช่วยลูกช้างด้วย ลูกช้าง ในประโยคนี้หมายถึง คำแทนชื่อซึ่งพูดกับเจ้าที่เป็นผี แทนคำว่า
ข้าพเจ้า ไม่สามารถแทรกคำใด ๆ ลงไประหว่าง ลูก กับ ช้าง ได้ ลูกช้าง
ในประโยคนี้จึงเป็นคำประสม
๓. คำประสมจะออกเสียงต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดหรือเว้นจังหวะระหว่างคำ เช่น
ดินเหนียว ถ้าออกเสียงต่อเนื่องกันไป หมายถึง ดินชนิดหนึ่งมีเนื้อเหนียว เป็นคำประสม ถ้ามีช่วงเว้นจังหวะระหว่าง ดิน กับเหนียว หมายถึง ดินมีสภาพเหนียว เป็นประโยค
กาแฟเย็น ถ้าออกเสียงต่อเนื่องกันไป หมายถึง กาแฟใส่นมใส่น้ำแข็ง เป็นคำประสม ถ้ามีช่วงเว้นจังหวะ ระหว่าง กาแฟ กับ เย็น หมายถึง กาแฟร้อนที่ทิ้งไว้จนเย็น เป็นประโยค
๒. โครงสร้างของคำประสม
หน่วยคำที่มารวมกันเป็นคำประสมอาจจะเป็นคำชนิดใด ๆ ใน ๗ ชนิด คือคำนาม คำกริยา คำลักษณนาม คำจำนวนนับ คำลำดับที่ คำบอกเวลา คำบุพบท ฯลฯ เมื่อนำคำชนิดนั้น ๆ มาเรียงกันแล้ว ส่วนใหญ่จะได้คำประสมที่เป็นคำนามหรือคำกริยา
ก. คำประสมที่เป็นนาม
๑. นาม + นาม
ดอกฟ้า หญิงที่สูงศักดิ์
ตีนกา รอยย่นบนใบหน้าบริเวณหางตา
บัตรโทรศัพท์ บัตรที่มีมูลค่าใช้สอดในเครื่องโทรศัพท์บางประเภทเมื่อต้องการโทรศัพท์
๒. นาม + นาม + นาม
เด็กหลอกแก้ว เด็กที่เกิดจากการผสมไข่และเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง
รถไฟฟ้า รถไฟที่แล่นบนรางยกระดับ
ปากนกกระจอก แผลเปื่อยที่มุมปาก เกิดจากขาดวิตามิน บี ๒
๓. นาม + กริยา
มือถือ โทรศัพท์ที่ถือติดตัวไปได้ โทรศัพท์เคลื่อนที่
หมูหัน ลูกหมูย่างทั้งตัว
๔. นาม + กริยา + นาม
คนเดินโต๊ะ พนักงานที่เสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร
บัตรเติมเงิน บัตรโทรศัพท์ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ชำระค่าใช้โทรศัพท์ล่วงหน้า
ภาย ในเวลาที่กำหนด
แปรงสีฟัน แปรงที่ใช้สำหรับทำความสะอาดฟัน
๕. นาม + กริยา + กริยา
ผงซักฟอก สารอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ใช้ประโยชน์ในการซักฟอก
บ้านจัดสรร บ้านซึ่งรัฐหรือเอกชนสร้างขายเงินผ่อน
ใบขับขี่ ใบอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะ
๖. นาม + ลักษณนาม
ทองแท่ง ลักษณะของทองที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นทองรูปพรรณ
เงินบาท สกุลเงินของไทยมีหน่วยเป็นบาท
สวนหย่อม สวนไม้ประดับที่มีขนาดเล็ก
๗. นาม + บุพบท + นาม
รถใต้ดิน รถไฟที่แล่นอยู่ใต้ดิน
คนหลังเขา คนที่ไม่ทันความเจริญของโลก
บัวใต้น้ำ คนที่สั่งสอนได้ยาก คนโง่
๘. กริยา + กริยา
จับสั่น ชื่อไข้ชนิดหนึ่งที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะมีเชื่อมาลาเรีย
กันสาด เพิงที่ต่อชายคาสำหรับกันฝนไม่ให้สาด
ห่อหมก ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง
๙. กริยา + นาม
เท้าแขน ส่วนของเก้าอี้สำหรับวางแขน
รองพื้น เครื่องสำอางประเภทหนึ่งใช้ทาผิวหนังก่อนผัดแป้ง
บังตา เครื่องบังประตูทำด้วยไม้หรือกระจกความสูงเหนือระดับสายตา
๑๐. บุพบท + นาม
ในหลวง พระเจ้าแผ่นดิน
ใต้เท้า สรรพนามบุรุษที่ ๒ แทนผู้ที่นับถืออย่างสูง
หลังบ้าน ภรรยา
ข. คำประสมที่เป็นคำกริยา
๑. กริยา + กริยา
ผสมเทียม การทำให้สิ่งมีชิวิตเกิดโดยการผสมไข่และเชื้ออสุจิโดยวิธีทางวิทยาศาตร์
ซักฟอก ซักถามให้ได้ความชัดเจน
กวาดล้าง กำจัดให้สิ้นไป
๒. กริยา + นาม
ปิดปาก ไม่พูด ถูกทำให้ไม่ได้พูด
ยกเมฆ พูดเกินจริง
ขายเสียง ยินยอมลงคะแนนให้บุคคลอื่นเพื่อหวังสิ่งตอบแทน , นักร้อง
๓. กริยา + นาม + กริยา
ขีดเส้นตาย ให้โอกาสเป็นครั้งสุดท้าย
ลดช่องว่าง ทำตัวให้เข้ากันได้โดยลดความแตกต่างระหว่างบุคคล
ตีบทแตก แสดงได้สมบทบาท
๔. กริยา + บุพบท
เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
๕. กริยา + บุพบท + นาม
กินตามน้ำ โกงกินโดยวิธีที่ดูเหมือนไม่ผิดกฎหมาย
ตีท้ายครัว เข้าติดต่อตีสนิทกับภรรยาผู้อื่นในทางชู้สาว
๖. นาม + กริยา + นาม
เลือดเข้าตา หาทางออกไม่ได้ สู้อย่างไม่กลัวตาย
น้ำท่วมปาก พูดไม่ออกเพราะเกรงจะมีภัยแก่ตนหรือแก่ผู้อื่น
๓. ลักษณะของคำประสม
โดยทั่วไปคำประสมเป็นการนำเอาคำไทยมารวมกัน แต่ต่อมามีการนำเอาคำภาษาบาลีสันสกฤตรวมกับคำไทยบ้าง คำบาลีสันสกฤตเหล่านี้เป็นคำที่รู้ความหมายกันดี เมื่อนำมารวมกับคำไทยแล้ว มีโครงสร้างทางไวยากรณ์แบบคำไทย คือคำหน้าเป็นคำหลัก คำขยายอยู่ข้างหน้า คำเหล่านี้บางทีก็ออกเสียงแบบคำสมาส เช่น พลเมือง สรรพคุณ ผลไม้ ราชวัง คุณค่า บางทีก็ไม่ออกเสียงแบบคำสมาส เช่น มหกรรมสินค้า รถไฟ ตู้นิรภัย ฯลฯ
ในปัจจุบัน มีการนำคำไทยประสมกับคำต่างประเทศอื่น ๆ อีก เช่น
ไทย + เขมร นายตรวจ ของขลัง ดาวประกายพรึก
ไทย + จีน เตาอั้งโล่ เต้าฮวยร้อน เข้าหุ้น นายห้าง พวงหรีด
ไทย + อังกฤษ เด็กปั้ม ตู้เอทีเอ็ม เรียงเบอร์ ม็อบจัดตั้ง
ต่างประเทศ + ต่างประเทศ เต้าฮวยฟรุตสลัด สวิตซ์อัตโนมัติ
๔. ความหมายของคำประสม
คำประสมมีความหมายเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. มีความหมายเฉพาะ เมื่อนำมารวมกันแล้วซึ่งต้องขยายความ เช่น
คำประสม | ความหมาย |
หน้าอ่อน | ดูอายุน้อยกว่าอายุจริง |
ห่อหมก | อาหารคาวชนิดหนึ่งซึ่งต้องผสมพริกแกง เนื้อ กะทิแล้วห่อนำไปนึง |
ยาบ้า | ยาเสพติดชนิดหนึ่งเมื่อเสพแล้วเกิดอาการคล้ายเป็นบ้า |
๒. มีความหมายเปรียบเทียบ แต่ยังมีเค้าความหมายเดิมอยู่ เช่น
คำประสม | ความหมาย |
ตีนแมว | นักย่องเบาที่มีพฤติกรรมคล้ายแมวคือเดินเบา |
หัวสูง | มีรสนิยมสูง |
มือสะอาด | มีความซื่อสัตย์สุจริต |
๓. คงความหมายของคำเดิม เช่น
คำประสม | ความหมาย |
งูพิษ | งูประเภทหนึ่งมีพิษ |
ไข่เป็ด | ไข่ของเป็ด |
น้ำหอม | น้ำที่กลั่นจากเครื่องหอม |
หมายเหตุ คำประสมบางคำอาจจะมีความหมายเป็นสองอย่าง เช่น ความหมายเปรียบเทียบกับคงความหมายเดิม หรือคงความหมายเดิมกับความหมายเฉพาะ เช่น
คำประสม | ความหมาย | หมายเหตุ |
หมาวัด | หมาที่อาศัยอยู่ในวัด | ความหมายคงเดิม |
ชายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าหญิงที่หมายปอง | ความหมายเปรียบเทียบ | |
ไข่แดง | ส่วนประกอบของไขที่มีสีเหลืองอมส้มหรือแดงอยู่ตรงกลาง | ความหมายเฉพาะ |
คนที่เด่นอยู่ท่ามกลางเพศตรงข้าม | ความหมายเปรียบเทียบ |
๕. หน้าที่ของคำประสม
หน่วยคำหรือคำที่นำมาประกอบกันเป็นคำประสมนั้น ไม่ว่าจะประกอบด้วยกี่หน่วยคำก็ตาม ต้องทำหน้าที่ร่วมกันเป็นหน่วยเดียว คำประสมจะทำหน้าที่ร่วมกันเป็นคำเดียว เช่น
คำประสมที่เป็นคำนามทำหน้าที่เหมือนคำนาม
๑. ประธาน ข้าวต้มผัดนี้อร่อยมาก
๒. กรรม คุณยายชอบข้าวต้มผัด
คำประสมที่เป็นคำกริยาหน้าที่เหมือนคำกริยา
๑. หน่วยกริยาอกรรม ผู้อำนวยการคนนี้หน้าอ่อนมาก
๒. หน่วยกริยาสกรรม แม่ครัวเสียรู้แก็งตกทองเสียเงินไปมาก
๓. หน่วยทวิกรรม ทนายซักซ้อมพยานฝ่ายโจทก์เรื่องอาวุธปืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น