ผญาภาษิต
คือ ผญาที่เป็นคำเตือน คำแนะนำสั่งสอน ให้ประชาชนโดยทั่วไป ประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ผญาชนิดนี้ บางทีเรียกกันว่า ผญาก้อม (ผญาสั้น)หรือโตงโตย เนื้อหาอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประการใหญ่ ๆ คือ
๑. เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้แนวความคิดมาจากพุทธศาสนา
ศาสนามีความสัมพันธ์กับชาวพื้นถิ่นอีสานเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นหลักยึดถือทางจิตใจ ทำให้ผู้คนในสังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เมื่อพิจารณาถึงกรณีนี้ก็อาจประเมินได้ว่า ศาสนา คือ ข้อกำหนดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ควบคุมสังคมให้อยู่ในภาวะสงบสุขได้ แต่ศาสนามิได้มีผลบังคับใช้กับผู้คนในสังคมอย่างตรงรูปเพียงอย่างเดียว
ชาวพื้นถิ่นยังฉลาดที่จะประยุกต์ศาสนาไปบังคับใช้กับผู้คนร่วมสังคมในรูปอื่น ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในรูปของผญาภาษิต ดังนั้น เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้แนวความคิดมาจากพุทธศาสนาจึงมีอยู่มากหลาย ดังตัวอย่าง เช่น
บุญมีแล้วแนวดีป้องใส่ บุญบ่ได้แนวขี้อ้ายแล่นโฮม
(เมื่อมีบุญจะประสบแต่ความงดงาม ครั้งหมดบุญก็จะประสบแต่ความเลวร้าย)
บุญบาปนี้เป็นคู่คือเงา เงานั้นไปตามเฮาซูวันบ่มีเว้น
(บุญบาปนี้เปรียบเสมือนเงาที่ติดตามตัวเราไปไม่มีเว้น)
ยามยากคิดเถิงนาย ยามตายคิดเถิงพระ
(คิดเถิง = คิดถึง)
๒. เนื้อหาของผญาภาษิตที่กล่าวถึงวัตรปฏิบัติที่เหมาะสม
ลักษณะของผญาภาษิตแบบนี้ มักเป็นการห้ามประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกครรลองคลองธรรม หรือไม่ก็เป็นการยุให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงามที่จะเกิดคุณประโยชน์ ทั้งกับตนเองและบุคคลร่วมสังคม
ข้อห้ามมิให้กระทำและข้อสนับสนุนให้กระทำพฤติกรรมต่าง ๆ ดังที่ปรากฎในบท
ผญาภาษิตนี้ โดยปกติจะมีต้นเค้าความเป็นจริงมาก่อน ก่อนที่จะได้รับการตราเป็นบทผญาภาษิตที่จะกล่าวรวมถึงแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม และไปมีบทบาทในการควบคุมสังคมได้ในอีกขั้นตอนหนึ่งดังตัวอย่าง เช่น
หญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นหญิงที่เลิศล้ำสมควรแท้แน่เฮือน
ไปหาพระเอาของไปถวาย ไปหานายเอาของไปต้อน
(ต้อน = ฝาก)
อย่าได้กดเขาย้องยอโตผิดฮีต อย่าได้หวีดหวีดเว้าประสงค์ขึ้นข่มเขา
(อย่ากดคนอื่นแล้วยกตนเองมันผิดจารีต อย่าได้พูดเพื่อมีเจตนาข่มคนอื่น)
๓. เนื้อหาของผญาภาษิตที่ได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรม
เนื้อหาของผญาภาษิตในลักษณะนี้ จะเป็นการนำเอาตัวละคร หรือเรื่องราวใน
วรรณกรรมทั้งวรรณกรรมของภาคกลางและวรรณกรรมของภาคอีสานมากล่าวเปรียบเทียบให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจถึงข้อภาษานั้นๆ ได้แจ่มชัดขึ้น ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการเข้าใจของชาวพื้นถิ่นดังตัวอย่าง เช่น
เงาะฮูปฮ้ายยังได้กล่อมรจนา ยังได้เป็นราชาซ่าลือทั้งค่าย
(ซ่าลือ = เลื่องลือ, ปรากฏ ทั้งค่าย = ทั้งหมด)
ศิลป์ไชยท้าวตกไกลแสนยาก ยังได้บั่นบากกลับต่าวขึ้นเป็นเจ้านั่งเมือง
(ต่าว = กลับ)
พระเวสสันดรเจ้านงนาถมะที ยังได้หนีพาราจากนคร ไปอยู่ดงดอนไพรสณฑ์ ต้อง
ทุกข์ทนบ่เคยพ้อเคยเห็น
(มะที = มัทรี พ้อ = พบ)
๔. เนื้อหาของผญาภาษิตที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมวัตถุของชาวพื้นถิ่นอีสาน
ผญาภาษิตที่มีเนื้อหาเช่นนี้จะมีเป็นจำนวนมากที่สุด มีทั้งที่เป็นการกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุนั้นด้วยถ้อยภาษาตรง ๆ เช่น
มีเฮือนบ่มีคร่าวสิเอากลอนไปพาดไสนอ มีคร่าวบ่มีตอกผูกไว้สิไปมั่นบ่อนใด
(เรือนไม่มีคร่าวจะเอากลอนไปพาดไว้ทางไหน และเมื่อมีคร่าวแล้ว แต่ไม่มีตอกผูก
มันจะมั่นคงได้อย่างไร)
คันได้อยู่ยอดฟ้าผาสาทประดับมุก อย่าได้สืมคนทุกข์ผู้ขีควายคอนกล้า
(ผาสาท = ปราสาท คอนกล้า = แบกกล้า)
การกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุในผญาภาษิตจะเป็นสิ่งบ่งบอกให้ทราบว่า ในสังคมนั้นมีวัฒนธรรมวัตถุอะไรบ้าง เพราะวัฒนธรรมวัตถุที่ปรากฎในผญาภาษิตนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงในสังคม
กวีชาวพื้นถิ่นจึงได้ดึงวัฒนธรรมวัตถุนั้นไปกล่าวถึงในบทผญา เป็นการรายงานถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรมวัตถุของสังคมไปในตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น