วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผญา

ผญา

            วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา  โดยเป็นข้อตกลงยอมรับและปฏิบัติร่วมกันมาของสังคมนั้น  ซึ่งในแต่ละสังคมมักจะมีวัฒนธรรมของตนเองโดยเฉพาะ  เช่น วัฒนธรรมเกี่ยวกับภาษา  วรรณคดี  ศิลป  ขนบธรรมเนียมประเพณี  เป็นต้น  ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความคิด  ความต้องการ และอารมณ์ต่าง ๆ ประชาชนในสังคมเดียวกันย่อมใช้ภาษาร่วมกัน  มีวัฒนธรรมหรือวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกัน  สมาชิกของสังคมรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ จากบรรพบุรุษของตนด้วยภาษา  ภาษาจึงช่วยให้มนุษย์ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตนได้
                สำหรับกลุ่มคนไทยในภาคอีสานมีภาษาอีสานหรือภาษาลาว  เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารภายในสังคมของตน  และเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอีสานมาสู่สังคมรุ่นหลัง  ภาษาอีสานนอกจากจะมีลักษณะเด่นในด้านการมีคำใช้มากและมีคำวิเศษณ์ประกอบคำอื่น ๆ มาแล้ว  ภาษาอีสานยังมีสำนวนพูดหลายรูปแบบ  ซึ่งทำให้ภาษาอีสานมีลักษณะที่แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ชาวอีสานมีสำนวนในการพูดที่เป็นเอกลักษณะของตนโดยเฉพาะ  เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหลักวาทศิลป์อันทรงคุณค่า คือ ผญา

ความหมายของผญา

            มีนักวิชาการ  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม  และนักมานุษยวิทยาหลายท่าน ได้กล่าวถึงความหมายของผญา  พอสรุปได้ดังนี้
                จารุบุตร  เรืองสุวรรณ  (๒๕๒๐ : ๕๘)  ได้ให้ความหมายของผญาไว้ว่า  ผญา  (ผะหญา)  เป็นคำนาม  แปลว่า  ปัญญา  ปรัชญา  ความฉลาด  ความรอบรู้  คำพูดที่เป็นภาษิตที่มีความหมายอยู่ในเชิงเปรียบเทียบ ประกอบด้วยถ้อยคำอันหลักแหลมลึกซึ้ง  คำกลอนผญา  อาจจะเป็นกลอนพื้นบ้านที่บ่าวสาวผูกขึ้นมาโต้ตอบกันเป็นการเกี้ยวพาราสี แสดงความรักต่อกันหรือประชดประชัน  เสียดสี  โดยไม่พูดกันตรง ๆ  อาจเป็นคำพูดเลียบเคียงกระทบกระเทียบเปรียบเปรยกัน  และอาจว่ากันเป็นกลอนสดก็มีมาก
                จารุวรรณ  ธรรมวัตร  (๒๕๒๖ : )  ได้อธิบายความหมายของผญาว่า  ผญาตามนัยแห่งนิรุกติาสตร์  ผญา  ตรงกับคำว่า  "ปัญญา"  ในภาษาบาลีและ "ปรัชญา"  ในภาษาสันสกฤต  ทั้งนี้เนื่องจาก ภาษาอีสานใช้ ""  แทน "ปร"  และ  "ปล"  ในภาษากลาง เช่น
                เปรต                       อีสานใช้                เผต                         ปราบ                      อีสานใช้                ผาบ
                ประโยชน์                  "                       ผะโยชน์                ประเทศ                       "                ผะเทศ
                แปลก                          "                       แผก                        เปลี่ยน                         "                  เผี่ยน
                ดังนั้น  ผญา  จึงแปลว่า  ปัญญา  หรือ ความรู้  ซึ่งในทัศนะของชาวอีสาน  ถือว่า ผญา  เป็นแนวทางนำไปสู่ความสำเร็จ

                ประเทือง  คล้ายสุบรรณ์  (อ้างถึงในบุญธรรม   ทองเรือง)  ได้อธิบายความหมายของผญาพอสรุปได้ว่า  ผญา คือ สำนวนการพูดอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่เป็นคำคมให้แง่คิด  เป็นคติสอนใจคนให้ประพฤติดีเป็นที่ยอมรับของสังคม  ผญา  เป็นคำพูดที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบใช้คำอุปมาอุปไมย  มีความหมายชัดเจน  หลักแหลมลึกซึ้ง  คำผญาใช้พูดในโอกาสต่าง ๆ กัน เช่น หนุ่ม - สาว  ผู้ใหญ่ - ผู้น้อย  เป็นต้น
               
            ปรีชา  พิณทอง (อ้างถึงในบุญธรรม   ทองเรือง)  ได้ให้ความหมายของผญาว่า  ผญา เป็นคำนาม  หมายถึง ปัญญา  ปรัชญา  ความฉลาด  คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง  เช่น เงินเต็มพาบ่ท่อผญาเต็มปูม  (ท้อง) หมายความว่ามีเงินมากมายก็สู้มีผญาอยู่เต็มท้องไม่ได้

                จะเห็นได้ว่า  ความหมายของผญา  ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด  จะแตกต่างกันออกไปบ้างเฉพาะในเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา  แต่โดยความหมายจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน  ซึ่งสรุปได้ว่า ผญา หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่แสดงภูมิปัญญาของผู้พูด  ที่ฉลาดหลักแหลม คมคาย  มีปฏิภาณไหวพริบ  โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ  เป็นคติเตือนใจ  คำคม คำพังเพย  คำอวยพร  และคำเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว  ผญาตรงกับภาษากลางว่าปัญญา ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ของผู้พูด  ตามผญาบทหนึ่งที่กล่าวว่า  "มีเงินเต็มพา  บ่ท่อมีผญาเต็มปูม"  และในสมัยโบราณชาวอีสานเรียกคนที่มีปัญญาว่า "คนมีผญา"

ความเป็นมาของผญา

            ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมฉันใด  ผญาก็จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาของชาวอีสานฉันนั้น  ชาวอีสานได้สืบสานวัฒนธรรมด้านผญาจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน  ส่วนสาเหตุความเป็นมาของผญานั้นไม่มีหลักฐานชัดเจนนัก  แต่มีผู้ทรงความรู้ทางวัฒนธรรมอีสานบางท่าน  ตั้งข้อสันนิษฐานว่า  ความเป็นมาของผญา  น่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการ พอสรุปได้ดังนี้
                .  เนื่องมาจากศาสนา  ชาวอีสานส่วนใหญ่นับถือศาสนามาช้านาน  คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  สอนให้คนประพฤติชอบให้ประกอบกรรมในสิ่งที่ดีงาม  ซึ่งเป็นความต้องการของสังคม  นอกจากชาวอีสานจะมีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักแล้ว  ผู้ใหญ่ในฐานะผู้มีประสบการณ์และใกล้ชิดกับสมาชิกของสังคมก็ย่อมต้องการให้สมาชิกของสังคมเป็นคนดี  จึงมีการสั่งสอนต่อกันต่าง ๆ มาโดยคำสอนนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนา  คำสั่งสอนอาจจะเริ่มต้นด้วยคำกล่าวร้อยแก้วทั่ว ๆ ไป  ต่อมาอาจจะกลายเป็นคำคล้องจอง เช่น  "เด็กน้อยบ่ฟังความพ่อความแม่  ผีแก่เข้าหม้อนฮก"  ลักษณะเช่นนี้  เป็นผญาประเภทหนึ่ง  เรียกผญาภาษิต
                .  เนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อถือ และระบบสังคมของชาวอีสานมาแต่โบราณกาล  ชาวอีสานมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง  เช่น ฮีตสิบสอง คองสิบสี่  การประกอบประเพณีในแต่ละเดือน  เช่น บุญมหาชาติ  บุญสงกรานต์  บุญบั้งไฟ  บุญเข้าพรรษา ฯลฯ  หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน  แสดงออกซึ่งความพออกพอใจซึ่งกันและกัน  หรืออาจเป็นการพูดกันเล่น ๆ  หรือพูดหยอกล้อกันเพื่อความสนุกสนาน  และบางทีพูดเพื่อประชันกัน  เป็นการอวดความสามารถแต่ละฝ่าย  ลักษณะการพูดเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดผญาเกี้ยวสาวได้  ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
                .  เนื่องมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน  ตามประวัติศาสตร์และตามประวัติวรรณคดีไทย  ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่โบราณ  สังเกตได้จากวรรณคดีไทยลายลักษณ์ในสมัยสุโขทัย  เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  แม้จะเป็นวรรณคดีร้อยแก้ว  แต่ก็ยังใช้คำสัมผัสคล้องจองกัน  เช่น  ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว  ไพร่ฟ้าหน้าใส  เป็นต้น  ชาวอีสานโบราณก็เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนเช่นเดียวกัน  จะเห็นได้จากคนโบราณเมื่อพูดกัน  บางครั้งจะพูดคำคล้องจองกัน  คนเฒ่าคนชราเมื่อจะสั่งสอนลูกหลานหรือการให้ศีลให้พรกัน  ก็มักจะพูดเป็นคำกลอน  เช่น นาดีถามหาข้าวปลูก  ลูกดีถามหาพ่อแม่  หรือ ขอให้เจ้ายืนยาวมั่นพันปีอย่าฮู้ป่วย  ไปทางใดขอให้รวยแก้วคำล้านค่าแสน  อย่าได้ทุกข์ยากแค้นสรรพสิ่งแนวใด ให้มีชัย  หมู่มารอย่าได้เวียนมาใกล้  นอกจากนั้นวรรณคดีของชาวอีสานจะมีรูปแบบคำประพันธ์เป็นร้อยกรองเป็นส่วนมาก  เช่น ท้าวก่ำกาดำ  สังข์ศิลป์ไชย  จำปาสี่ต้น  ขูลูนางอั้ว  เป็น  เมื่อชาวอีสานมีลักษณะเช่นนี้แล้ว  อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดคำผญาขึ้นได้  ดังตัวอย่าง
                                -  เฮ็ดดีผีปันนาให้กิน
                ความหมาย  คนทำความดี  จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
                                -  อยากฮู้สาวงามให้ถามพระในวัด
                                   อยากฮู้พระเคร่งครัดให้ถามญาติถามโยม
                ความหมาย  อยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ถามผู้ใกล้ชิด
                                -  บุญให้หาบ  บาปให้หิ้ว
                ความหมาย  ทำบุญต้องทำมาก ๆ  ทำบาปทำแต่เพียงน้อย ๆ
                .  เนื่องมาจากวรรณกรรม  ชาวอีสานมีประเพณีอ่านหนังสือผูก  ในโอกาสงานบุญต่าง ๆ เช่น เข้าพรรษา  ออกพรรษา เป็นต้น  หนังสือที่นำมาอ่านจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีผู้จารไว้ในใบลาน  สำนวนภาษาคล้องจองกัน  เนื้อหาในวรรณกรรมนอกจากจะทำให้ผู้ฟังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ยังได้รับคติสอนใจ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติด้วย  ดังนั้น  ผญาส่วนหนึ่งจึงได้มาจากวรรณกรรมท้องถิ่น  ดังตัวอย่าง
                                -  เป็ดไก่ยังฮู้หาเหยื่อป้อนคาบชีวังโต
                                   ส่วนว่าเฮาเป็นคนอย่าสิดูดายดู้
                                                            (กาพย์ย่าสอนหลาน)
ความหมาย  เป็ดไก่ยังมีความสามารถหาอาหารเลี้ยงตนได้  เพราะฉะนั้นคนอย่านิ่งดูดาย
            -  เพิ่นบ่เอิ้นอย่าขาน  เพิ่นบ่วานอย่าซ่อย  มักซ่อยแท้ให้พิจารณา
                                                                (เสียวสวาสดิ์)
ความหมาย  ถ้าเขาไม่วานอย่าทำ   ถ้าอยากทำให้พิจารณาให้ดี
                -  ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง  พี่น้องยังต่างใจ
                                                                (กาพย์ปู่สอนหลาน)
ความหมาย  พี่น้องกันก็มีจิตใจไม่เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น