ผญาเกี้ยว
คือ ผญาที่กล่าวเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะในงานลงข่วง หรือปั่นฝ้าย ซึ่งเป็นงานที่ชายหนุ่มนิยมมาพบปะพูดคุยกับหญิงสาวและมักจะมีการ "จ่ายผญา" คือ พูดจาเกี้ยวพานกันด้วยโวหารอันลึกซึ้งคมคาย ผญาเกี้ยวจึงเป็นสิ่งทดสอบเกี่ยวกับปฏิภาณไหวพริบของคู่สนทนาได้เป็นอย่างดี
ผญาชนิดนี้บางครั้งเรียกกันว่า ผญาเครือ และมีเนื้อหาที่สามารถแบ่งออกเป็นประการใหญ่ ๆ ได้ 3 ประการ คือ
๑. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวพื้นถิ่นอีสาน เนื้อหาของผญาเกี้ยวในลักษณะนี้จะมีถ้อยคำหรือข้อความกล่าวถึงวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในสังคมพื้นถิ่นวัฒนธรรมเหล่านั้นอาจแยกกล่าวย่อยออกไปได้ 2 ชนิดกว้าง ๆ คือ
๑.๑ วัฒนธรรมวัตถุ ได้แก่ สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ด้วยกันเอง นับตั้งแต่วัฒนธรรมวัตถุที่มีความสำคัญมาก เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ไปจนกระทั่งวัฒนธรรมวัตถุที่มีความสำคัญรอง ๆ ลงไป เช่น ยานพาหนะ หรือ อาวุธยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ
ในเนื้อหาของผญาเกี้ยวจะกล่าวถึงวัฒนธรรมวัตถุอยู่หลากหลายประการ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวถึงในลักษณะของความเปรียบก็ตาม ดังตัวอย่าง เช่น
ขอบคุณเด้อหล่าที่หายามาให้สูบ ปูสาดฮูปดอกฟ้ามาช่างโก้แท้หนอหล้าเอย
(ขอบคุณน้องที่หาบุหรี่มาให้สูบ ปูเสื่อที่เป็นรูปดอกฟ้าสวยงามต้อนรับเขา)
๑.๒ วัฒนธรรมที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุ ได้แก่ อุดมการณ์ ค่านิยม ประเพณี หรือทัศนคติต่างๆ ซึ่งปรากฎอยู่ในเนื้อหาของผญาเกี้ยวเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ดังตัวอย่างเช่น
สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ ชาติดอกเดื่อนันบ่บานอยู่ต้นตอ อ้ายบ่เชื่อคนดอกนา
(สัจจะของผู้หญิงนั้นไม่เคยมีจริงสักครั้ง เหมือนดังดอกมะเดื่อที่ไม่เคยบานอยู่กับต้น พี่จึงไม่เชื่อคนดอก)
ก่อนสิจากเจ้านี่อ้ายขอฝากไมตรีจิต ขอให้พันธนังติดหมื่นปีอย่ามายม้าง อ้ายขอทำบุญสร้างอานิสงส์แสวงร่วม
(ก่อนที่พี่จะจากน้องไป พี่ขอฝากไมตรีไว้ให้ผูกพันกันสักหมื่นปี อย่าได้มีวันเคลื่อนคลาย จะขอทำบุญสร้างกุศลร่วมกับน้อง)
อ้ายมายอยาฮ่วนเฮียงเคียงสอง หมายให้มีกินดอกนำน้องแท้เหล่า
(พี่อยากจะร่วมเรียงเคียงสอง อยากให้มีพิธีแต่งงานกับน้องจริง ๆ)
๒. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่กล่าวถึงวัตรปฏิบัติที่เหมาะสม
โดยปกติของผญาเกี้ยวแล้วจะเป็นการกล่าวถ้อยโต้ตอบกันไปมา และในกระบวนการเกี้ยวพาราสีนั้น ผู้โต้ตอบกันก็อดมิได้ที่จะสอดแทรกถึงหลักที่ควรประพฤติ ควรปฏิบัติตามระบบของสังคมเข้าไปในเนื้อหาของผญา เช่น การกล่าวแขวะชายหนุ่มว่าละทิ้งหน้าที่ของสามีมาตามสนใจผู้หญิงอื่น ดังตัวอย่างว่า
อ้ายเอย เจ้าผู้มีเมียแล้วสังละเฮือนให้หมาเห่า สังเจ้าบ่อยูบ้านเฮ็ดงานซ่อยเมีย
(พี่เอย ทำไมจึงไม่อยู่บ้าน ไม่ช่วยเมียทำงาน)
การที่ฝ่ายหญิงบอกกับฝ่ายชายว่า ถ้ารักจริงก็ให้จักส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอดังตัวอย่างว่า
คั่นอ้ายมักน้องแท้ให้พ่อแม่มาขอ เอากะทอมานำใส่อีนางไปนอนซ้อน
(ถ้าพี่รักน้องจริงให้ส่งพ่อแม่ขอสู่ขอ และเอากะทอ หรือเช่งมาให้น้องไปนอนเป็นคู่เถิด)
สิ่งดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักปฏิบัติที่คนในสังคมยึดถือและเห็นว่างดงามไม่สมควรละเว้น จึงมีการนำมากล่าวกระตุ้นเตือนกัน แสดงให้ประจักษ์ได้อย่างหนึ่งว่าชาวพื้นถิ่นอีสานยังคงยึดมั่นอยู่ในวัตรจริยาที่ดีงาม มิได้ละเลยหลงลืม เมื่อมีโอกาสจึงได้นำเอาข้อควรปฏิบัตินั้นมาอ้างถึงอย่างเป็นหลักสำคัญอยู่เสมอ
๓. เนื้อหาของผญาเกี้ยวที่อยู่ในลักษณะตลกชวนขัน อารมณ์ขันของชาวพื้นถิ่นอีสานที่ ปรากฎอยู่ในบทผญาเกี้ยวนั้น มักจะปรากฎอยู่ในลักษณะของความเปรียบ กล่าวคือผู้กล่าวผญาจะพยายามเลือกสรรคำเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกขบขันขึ้นมา ดังตัวอย่าง เช่น
อ้ายนี้มักฮูปน้อง คือ ดั่งยักษ์ถึกลอบ คือ ดังปอบถึงไซ
(พี่นี้รักน้องเหมือนกับยักษ์ติดลอบ หรือปอบติดไซ)
น้องนี้ก็มักฮูปอ้ายผู้มีกายหนักเกิ่งภูเขา
(น้องนี้ก็รักพี่ที่หนักเสมอกับภูเขา)
ขั้นตอนผญาเกี้ยว
๑. ขั้นทักทาย
๒. ขั้นเผยความในใจ
- บอกถึงสาเหตุ จุดประสงค์ของการมา
- หยั่งท่าทีดูว่ามีคนรักหรือยัง
- พูดถ่อมตัว ยกย่องอีกฝ่ายหนึ่ง
- กล่าวเสนอความในใจ
๓. ขั้นกล่าวลา
- ลาด้วยความเข้าใจกัน
- ลาด้วยความหวัง
- ลาด้วยความจำเป็น
- ลาด้วยความไม่แน่ใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น