การจำแนกประเภทของผญา
การแบ่งประเภทของผญาในที่นี้ จะแบ่งตามลักษณะเนื้อหาและโอกาสที่ใช้ ซึ่งมีผู้รู้หลายท่าน ได้แบ่งประเภทของผญาออกเป็นประเภทต่าง ๆ หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น
ประเทือง คล้ายสุบรรณ (๒๕๒๘ : ๗๖–๘๓) ได้แบ่งออกเป็น ๕ ประเภทดังนี้
๑. ผญาภาษิต หรือ ผญาก้อม ทำนองเดียวกันกับสุภาษิตของภาคกลาง
๒. โตงโตยหรือยาบสร้อย บางถิ่นเรียกตาบต้วย หรือยาบส้วง เทียบได้กับคำพังเพยภาคกลาง
๓. ผญาย่อย เทียบได้กับสำนวนหรือคำคมของภาคกลาง
๔. ผญาเครือ หรือ ผญาเกี้ยวสาวหรือคำหยอกสาว
๕. ผญาอวยพร ใช้อวยพรในโอกาสต่าง ๆ เช่น อวยพรในวันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ หรืออวยพรทั่ว ๆ ไป
จารุวรรณ ธรรมวัตร (ม.ป.ป. : ๔๒) ได้แบ่งผญาสำนวนพูดออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ผญาภาษิต เรียก ผญาก้อม
๒. ผญาเกี้ยว เรียก ผญาเครือ
๓. ผญาอวยพร เรียก ผญาให้พร
จารุบุตร เรืองสุวรรณ (๒๕๒๐ : ๑๗๙) ได้แบ่งผญาออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ผญาภาษิต เป็นถ้อยคำแบบฉันทลักษณ์ มีคติเตือนใจลึกซึ้งแฝงด้วยคติธรรม
๒. ผญาหย่อย เป็นคำพูดเปรียบเปรย เย้าแหย่ ขำขัน สนุกสนาน แต่แฝงคำคมเป็นคติอยู่บ้าง
จะเห็นได้ว่า การแบ่งประเภทของผญาตามเนื้อหาและโอกาสที่ใช้ดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก โดยสรุปแล้วผญาแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. ผญาภาษิต
๒. ผญาเกี้ยว
๓. ผญาอวยพร
๔. ผญาโตงโตย
๑. ผญาภาษิต คือคำกล่าวเพื่อสั่งสอน แนะนำ ให้ผู้ได้ยินได้ฟัง ได้จดจำ และนำไปปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร เป็นคติเตือนใจ ใช้เป็นเครื่องมือเหนี่ยวให้คนประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่ลืมตน ส่วนมากเป็นคำกล่าวอิงหลักธรรมทางศาสนา แฝงไปด้วยคติธรรมและจารีตประเพณี โดยใช้ถ้อยคำไพเราะ สละสลวย รัดกุม บางบทสั้น ๆ จึงเรียกผญาก้อม บางบทอาจจะยาว ผญาภาษิตมีความหมายโดยตรงบ้าง และเป็นความเปรียบอุปมาอุปไมยให้ผู้ฟังตีความ ใช้ความหมายแฝงบ้าง ทำนองเดียวกันกับสุภาษิตภาคกลาง (ปรีชา พิณทอง อ้างถึงในบุญธรรม ทองเรือง) ดังตัวอย่าง
- แหวนดีย้อนหัว ผัวดีย้อนเมีย
ความหมาย แหวนมีค่าเพราะหัว สามีได้ดีเพราะภรรยาเสริมส่ง
- ตกหมู่ขุนซ่อยขุนเกือม้า ตกหมู่ข้าซ่อยข้าพายโซน
ตกหมู่โจรซ่อยโจรหามไหเหล้า
ความหมาย ไปอยู่กับใครเจ้าของบ้านทำอะไรก็ต้องช่วยทำในสิ่งนั้น ต้องรู้จักปรับตัว
- หมู่เฮามาเพราะเหล้ายามี หมู่เฮาหนีเพราะเหล้ายาเหมิด
ความหมาย เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก
๒. ผญาเกี้ยว คือ คำกล่าวของหนุ่มสาว ที่ใช้พูดจาเกี้ยวพาราสี โต้ตอบกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในงานเทศกาล หรือการทำงาน ลงข่วงปั่นฝ้าย เกี่ยวข้าวหรือตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง มีลักษณะคล้ายเพลงยาวแต่เป็นเพลงยาวที่โต้ตอบสลับกันในทันทีทันใด ผญาเกี้ยวสาวเป็นร้อยกรองที่ใช้ปฏิภาณโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำอ่อนหวานละเมียดละไมไพเราะเปรียบเปรยได้ซาบซึ้งกินใจ การพูดโต้ตอบกันเช่นนี้ของหนุ่มสาว เรียกว่า จ่ายผญา เป็นลักษณะเดียวกันกับการแอ่วสาวหรืออู้สาวของชาวล้านนา ซึ่งชาวล้านนาเรียกบทสนทนานี้ว่า "คำอู้บ่าวอู้สาว" หรือ คำเครือ หรือ "คำค่าวคำเครือ" (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล อ้างถึงในบุญธรรม ทองเรือง) ดังตัวอย่าง
หนุ่ม อ้ายอยากถามข่าวอ้อยปล้องถี่ลำงาม ว่ามีเครือหนามเกี่ยวพันหรือยังน้อง
ความหมาย พี่อยากถามข่าวคราวว่า น้องมีคนรักหรือยัง
สาว น้องนี้ปลอดอ้อยซ้อย เสมออ้อยกลางกอ
กาบบ่ห่อหน่อน้อยบ่แซม ชู้บ่แอ้มผัวน้องบ่มี อ้ายเอย
ย้านแต่อ้ายนั่นแหล่ว คือสิมีเครือฝั้นพันธนังน้าวจ่อง
ความหมาย น้องนี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนต้นอ้อยอยู่กลางกออ้อย สามีก็ไม่มีคนรัก
ก็ไม่มี กลัวแต่พี่นั่นแหละคงจะมีพันธะแล้ว
หนุ่ม บ่มีดอกน้องเอย ปลอดอ้อยซ้อย เสมอดั่งตองตาย
นับแต่เป็นชายมาบ่มีหญิงซ้อนพอสองจักเทื่อ น้องบ่ซ้อนเครืออ้ายบ่มี
ความหมาย พี่ก็ไม่มี ยังไม่เคยมีภรรยาเลย ถ้าน้องไม่เป็นภรรยาพี่ พี่ก็ไม่มีใคร
สาว น้องนี้ปลอดอ้อยซ้อยเสมอดั่งตองจริง ผัดแต่เป็นหญิงมาบ่มีชายซ้อน
ความหมาย น้องนี้บริสุทธิ์จริง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงมาไม่เคยมีสามีเลย
๓. ผญาอวยพร คือ คำกล่าวให้พรในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เป็นการพูดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสิริมงคล ให้กำลังใจ ให้ความสบายใจ และความชื่นใจ แก่ผู้ฟังหรือผู้รับพร ถ้อยคำที่ใช้อาจจะเป็นผญาบทสั้น ๆ กะทัดรัด หรืออาจเป็นผญาบทยาว ๆ ก็ได้ ดังตัวอย่าง
- ให้เจ้าโย ๆ ยิ่งมีทุกสิ่งในเฮือนซาน สุขสำราญบ่มีโศก โรคฮ้ายอย่ามาพาโล อายุ
วรรณโณ สุขัง พลัง
ความหมาย ขอให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น มีแต่ความสุขปราศจากความทุกข์ ให้มีอายุวรรณะ สุขะ
พละ
- ให้เจ้าพ้นโศกโศกา ให้เจ้ามีสุขาอย่าเดือดร้อน ความสุขมีเพียงพอบ่น้อย
เช้าแลงค่ำค้อยให้เจ้าอยู่สวัสดี
ความหมาย ให้พ้นจากโรคภัย มีความสุขความเจริญตลอดไป
- ขอให้เจ้าไปดีมีไชย ขึ้นโคกกว้างให้ตีนต่อยหอยคำ คันผู้สาวไปนำให้ได้ขี่คอ
ตางซ้าง
ความหมาย ขอให้การเดินทางประสบแต่ความโชคดีตลอดไป
๔. ผญาโตงโตยหรือยาบสร้อย บางถิ่นเรียกตวบต้อยหรือยาบส้วงคือคำกล่าวเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์หรือสถานการณ์เป็นข้อความเชิงอุปมาอุปไมยที่คมคาย ลึกซึ้ง ชวนให้คิด มีลักษณะทำนองเดียวกันกับผญาภาษิต ต่างกันที่ผญาโตงโตยไม่ได้เป็นคำสอนโดยตรง เพียงแต่เป็นคำเปรย ๆ เตือนสติหรือให้ข้อคิดเท่านั้น คำผญาประเภทนี้อาจเป็นคำกลอนคล้องจองกัน อาจเป็นวลีหรือเป็นประโยคก็ได้
คำโตงโตย เป็นกลุ่มคำที่มีความหมายพิเศษ หรือพูดให้ตีความ บางครั้งอาจจะใช้ความหมายโดยนัยของคำ คำโตงโตยอาจจะเปรียบได้กับ "คำพังเพย" ของภาคกลาง
ตัวอย่าง
- จ้ำแจ่วเก่า - กินน้ำพริกถ้วยเก่า ใช้ในความหมายว่า "กลับมานิยมของเก่า"
- ขี้บ่แก้งก้น - ขี้ไม่เช็ดก้น ใช้ในความหมายว่า "ทำอะไรไม่เรียบร้อย" (แก้ง - เช็ด ชำระ)
- เว้าก่อนคิด - พูดก่อนคิด ใช้ในความหมายว่า "พูดจาไม่คิดก่อน" (เว้า - พูด)
- แข้เหลือหนอง - จระเข้ใหญ่เกินหนอง ใช้ในความหมายว่า "วางโตเกินความ เป็นจริง"
- เว้าบ่หล่นขวั้น - พูดไม่ขาดจากขั้ว ใช้ในความหมายว่า "พูดไม่พ้นตัว" (เว้า - พูด, ขวั้น - ขั้วผลไม้ที่ติดกับกิ่ง)
- ข่มเพิ่น ยอโต - ข่มเขา แต่ยกตนเอง ใช้ในความหมายว่า "พูดจาข่มผู้อื่น แต่ยกยอตนเอง" (เพิ่น - เขา คนอื่น, ยอ - เยินยอ, โต - ตนเอง)
- ผีปั้นหลุดมือ - ผีปั้นคนก่อนเกิดแต่ทำหล่น ใช้ในความหมายว่า "รูปร่างไม่ สวยงาม"
- อยู่ดีกินแซบ - อยู่ดีกินอร่อย ใช้ในความหมายว่า "ร่างกายแข็งแรงมีความสุข" (แซบ - อร่อย)
- อยู่ดีมีเฮง - อยู่ดีร่างกายแข็งแรง ใช้ในความหมายว่า "มีความสุขสบายดี" (แฮง-แรง, มีแฮง-แข็งแรง สุขสบาย)
- เกี่ยวหญ้ามุงป่า - เกี่ยวหญ้ามุงป่า ใช้ในความหมายว่า "ทำในสิ่งที่ไม่มี ประโยชน์"
- เนื้อน้อยของบาง - เนื้อน้อยสิ่งของเล็ก ใช้ในความหมายว่า "ของมีค่าน้อยไม่มี ใครต้องการ"
- ชิ้นต่อนหนา ปลาต่อนใหญ่ - เนื้อก้อนใหญ่ ปลาชิ้นใหญ่ ใช้ในความหมายว่า "ของมีค่ามากคนต้องการ" (ชิ้น - เนื้อ, ต่อน - ก้อน)
- ฮ้ายก่อนตีลุน - ดูก่อนแล้วใจดีภายหลัง ใช้ในความหมายว่า "ตบหัวแล้วลูบหลัง" (ฮ้าย-ร้าย, ลุน-ภายหลัง)
- อยู่ดีเสมอใช้ -ร่างกายแข็งแรงแต่ป่วยไข้ ใช้ในความหมายว่า "หน้าชื่นอกตรม" (อยู่ดี-สุขสบาย)
- ม้อนนอนบ่เกือ - ตัวไหมนอนไม่เลี้ยงอาหาร ใช้ในความหมายว่า "คนทำดี ไม่ชมเชย) (ม้อน - ตัวไหม, เกือ-เลี้ยง ขุนอาหาร)
- เฮือนบ่เป็นซาน - ไม่เป็นบ้านเป็นเรือน ใช้ในความหมายว่า "ครอบครัวไม่เป็น ระเบียบ" (เฮือน - เรือน, ซาน - ซานบ้าน)
- พ่อฮ้างเครือ - พ่อหม้ายมีเครือ (เถาวัลย์) ใช้ในความหมายว่า "พ่อหม้ายลูกติด" (ฮ้าง - หย่าร้าง)
- กินน้ำขะลำต่อน - กินน้ำแต่แสลงเนื้อ ใช้ในความหมายว่า "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" (ขะลำ-แสลง อัปมงคล, ต่อน-เนื้อ ก้อนเนื้อ)
- ผ้าฮ้ายห่อคำ - ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ใช้ในความหมายว่า "สิ่งไม่งามปกปิดความดีงาม" (ผ้าฮ้าย - ผ้าขี้ริ้ว, ทอง - ทองคำ)
- เฮ็ดคือข้า กินคือพระยา - ทำงานเหมือนไพร่กินเหมือนพระยา ใช้ในความหมาย ว่า "รสนิยมสูงกว่าฐานะ" (เฮ็ด - ทำงาน)
- สิบบ้านซ่าห้าบ้านลือ - เล่าลือสิบบ้าน ห้าบ้าน ใช้ในความหมายว่า "ข่าวนินทา ข่าวเล่าลือ" (ซ่า - เล่าลือ)
- ได้เต่าลืมหมา - ได้เต่าลืมหมา ใช้ในความหมายว่า "ได้เพื่อนใหม่ลืมเพื่อนเก่า"
- ซื้อได้ขายหมาน - ซื้อได้ชายดี ใช้ในความหมายว่า "ทำมาค้าคล่อง" (หมาน-โชคดี)
- ไก่ใหม่เกือข้าวสาร - ไก่ใหม่เลี้ยงด้วยข้าวสาร ใช้ในความหมายว่า "เห่อของใหม่" (เกือ-เลี้ยง ขุนอาหาร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น