ณ เมืองใหญ่อันเจริญรุ่งเรื่องชื่อ เป็งจาน มีพระราชาชื่อท้าวกุดสะราด มีน้องสาวชื่อนางสุมนทาที่พระองค์รักและหวงมาก มเหสีชื่อนางจันทา กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณเป็นเป็นจอมยักษ์ ได้อาญาสิทธิ์ให้ยักษ์ชื่อท้าวกุมภัณฑ์เป็นผู้ปกครองผี ยักษ์ และมารทั้งหลายในโลก มีฤทธิ์เดชครบถ้วนทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นโสด ให้ปกครองเมืองอโนราช คิดอยากมีภรรยา ท้าวเวสสุวรรณจึงบอกว่าเนื้อคู่ชื่อนางสุมนทา แต่ขอให้ตัดใจเสียเพราะเป็นคนละเผ่าพันธุ์ แต่ท้าวกุมภัณฑ์กลับขี่ยานจักรแก้วไปหา ซ่อนตัวอยู่ในอุทยาน ฝ่ายท้าวกุดสะราด ฝันว่ามีคนมาฟันแขนขวาขาดพร้อมทั้งผ่าอกจึงสะดุ้งตื่นมา โหรทำนายว่าจะมีคนต่างแดนมาแย่งญาติไป เมื่อพ้นเคราะห์แล้วจึงจะประสบโชคดี
นางสุมนทาพร้อมบริวารอออกประพาสสวน ท้าวกุมภัณฑ์จึงอุ้มเอานางเหาะขึ้นพากลับไปเมือง อโนราช จนนางยอมเป็นมเหสีด้วยความสมัครใจมีธิดาด้วยกัน คือ นางสีดาจัน เมื่อเติบโตขึ้น พญานาควรุณแห่งนาคพิภพมาขอไปเป็นมเหสี
กล่าวถึงท้าวกุดสะราด ผ่านไปสามเดือนยังคิดถึงน้องสาว จึงออกบวชและติดตามหาผ่านไปเจ็ดปี เดินทางถึงเมืองจำปา มีเจ้าเมืองชื่อกามะทา ที่นี่ได้ทราบข่าวน้องสาวว่าถูกยักษ์กุมภันฑ์ลักพาตัวไป เช้าวันหนึ่งไปบิณฑบาตหน้าบ้านเศรษฐีชื่อนันทะ มีลูกสาว ๗ คน รู้สึกชอบจึงกลับเมืองเป็งจาน ลาสิกขาบทออกมาแล้วมาสู่ขอนางทั้งเจ็ดไปเป็นมเหสี ต่อมามเหสีทั้ง ๘ คนของท้าวกุดสะราดได้อธิษฐานขอลูก โอรสของพระอินทร์ได้อาสาลงมา สู่ครรภ์นางจันทาหนึ่งองค์ และอีกสององค์พร้อมกันลงมาสู่ครรภ์นางลุนซึ่งเป็นน้องคนสาวคนสุดท้ายของนางทั้งเจ็ด โหรจึงทำนายว่าผู้มีบุญมาเกิดในครรภ์ของนางจันทากับนางลุนส่วนอีกหกนางจะเป็นคนไม่ดีมาเกิด ทำให้นางทั้งหกไม่สบายใจ ต่อมามีหญิงร้อยเล่ห์เข้ามาหาและตีสนิทจนนางปทุมมาผู้พี่คนโตของนางทั้งเจ็ดไว้ใจ หญิงนั้นทำยาเสน่ห์ให้ท้าวกุดสะราดหลงใหลนางทั้งหกพร้อมทั้งให้สินบนโหรให้กลับคำทำนายใหม่ พอครบกำหนดนางทั้งแปดก็คลอดลูกออกมา ลูกของนางลุนนั้นคนแรกคลอดแกมาเป็นหอยสังข์ คนที่สองเป็นมนุษย์ถือดาบและศรศิลป์ออกมาด้วย ส่วนนางจันทาได้ลูกออกมาเป็นครึ่งล่างเป็นราชสีห์ส่วนหัวเป็นช้าง
ท้าวกุดสะราดเห็นว่า มีความผิดตามคำโหรจึงเนรเทศลูกออกนอกเมือง นางจันทา นางลุนพร้อมลูกสามคนรวมกันเป็นห้าคนจึงเดินทางออกจากเมืองไป เดินทางไปตามป่าได้ราวหนึ่งเดือนไปพบกับปราสาทอยู่กลางป่าซึ่งพระอินทร์มาสร้างไว้ให้พักอาศัย ทั้งหมดจึงอาศัยในปราสาทนี้ โดยพระอินทร์เขียนชื่อไว้ว่า ลูกของนางจันทาชื่อ สีหราชหรือสีโห ส่วนลูกของนางลุนนั้นคนแรกชื่อสังข์ คนที่สองชื่อ สินไซ (ศิลป์ชัย) ดังข้อความที่ว่า
ทั้งสามองค์เจริญเติบโตขึ้นด้วยความรักสามัคคีกัน วันหนึ่งสินไซได้ขอธนูศิลป์หรือศร กับดาบหรือตาว จากแม่ของตน เมื่อนางจันทามอบให้แล้วสินไซก็แสดงการใช้ดาบและศรได้อย่างคล่องแคล่ว สินไซ ยิงธนูไปตกถึงหน้าพญาครุฑในนครฉิมพลี พญาครุฑจึงนำไพรพลทั้งหลายมาถวายเครื่องบรรณาการพร้อมให้การอารักขา จากนั้นสินไซยิงธนูไปตกที่หน้าของพญานาค พญานาคก็นำไพร่พลมาถวายเครื่องบรรณนาการและเฝ้าอารักขา โดยครุฑอารักขากลางวัน ส่วนนาคอารักขากลางคืน ทั้งสามเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มที่มีฤทธิ์มาก ฝ่ายท้าวกุดสะราด สั่งให้ลูกชายที่เกิดจากนางทั้งหก ออกเดินทางไปเรียนวิชาต่างๆเพื่อที่จะเป็นวิชาติดตัวใช้สำหรับติดตามนางสุมนทา โอรสทั้งหกก็ออกเดินทางไปในป่าจนกระทั่งไปพบกับสีโหสังข์สินไซ เมื่อสอบถามก็รู้ว่าเป็นพี่ จึงหลอกว่าท้าวกุดสะราดคิดถึงอยู่ตลอดมาจึงให้ออกมาตามหาและถามข่าวว่ายังอยู่ดีสบายหรือไม่ บัดนี้จะกลับไปกราบทูลให้ทราบ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอยู่ดีมีวิชามากจึงขอให้เรียกให้สัตว์น้อยใหญ่ในป่าติดตามไปในอีกหนึ่งวันข้างหน้า จากนั้นทั้งหกองค์จึงกลับไปทูลพระบิดาว่าเรียนวิชาจบแล้ว ถ้าไม่เชื่อจะใช้มนต์เรียกสัตว์ให้ดู วันต่อมาก็มีสัตว์มีพิษในป่าเข้าไปในเมืองเต็มไปหมดแต่ไม่ทำอันตรายใคร ท้าวกุดสะราดก็ดีใจว่าลูกมีความสามารถแล้วจึงสั่งให้ออกติดตามนางสุมนทาแล้วพากลับมาบ้านเมือง ทั้งหกองค์ก็เดินทางไปพบพี่ๆในป่าแล้วบอกว่าท้าวกุดสะราดเชื่อแล้ว และให้ออกเดินทางไปตามหาน้าสุมนทาด้วยกัน ถ้าทำสำเร็จจะยกบ้านเมืองให้ปกครองครึ่งหนึ่ง สีโหสังข์สินไซมีความกตัญญูคิดตอบแทนบิดาจึงรับปากจะไปด้วย แต่นางจันทากับนางลุนไม่เชื่อพยายามห้ามปรามแต่ก็ขัดไม่ได้ในที่สุดก็สั่งสอนว่าให้ระวังเพราะในป่ามีอันตรายมาก ศรศิลป์พระขรรค์ต้องกระชับในมือตลอดเวลา เมื่อได้พบน้าสุมนทาก็อย่าไว้ใจมากนักเพราะอาจติดนิสัยยักษ์มาบ้าง สินไซจงดูแลอย่าทอดทิ้งกัน และสุดท้ายอย่าไว้ใจท้าวทั้งหกนี้ จากนั้นจึงอำลาแม่แล้วออกเดินทาง จนกระทั่งได้พบกับด่านต่างๆดังนี้
ก่อนวันที่สินไซจะเข้ามา คืนก่อนนั้นยักษ์หลับฝันละเมอจนนางสุมนทาปลุกให้ตื่น และต้องออกไปหาอาหาร สั่งให้สุมนทาอยู่แต่ในปรางค์เท่านั้น สินไซแอบเข้าไปสู่ปราสาท ทำทีเป็นพูดเกี้ยวพาราสี สุมนทารู้ว่าเป็นเสียงเด็กจึงไต่ถามจนทราบ แต่ไม่เปิดประตู สินไซจึงพังประตูเข้าไป นางสุมนทาไม่ยอมกลับ บอกให้สินไซกลับไปบอกพ่อว่าตามหาไม่เจอ สินไซเสียใจที่พ่อรักน้อง แต่สุมนทามารักสมียักษ์มากกว่า สุมนทาบอกว่าไม่อยากพลัดพราก ต้องกตัญญูต่อสามี สุมนทาทราบว่าหลานมีวิชาเก่งกล้าจึงยอมแต่ขอให้สามีกลับมาก่อน สินไซไม่ยอม สุมนทาให้สินไซกลับก่อน ตนจะให้สามีพาไปส่ง สินไซแผลงศรขึ้นฟ้าข่มอำนาจยักษ์ทั้งหลาย จนยักษ์กุมภัณฑ์หมดแรง ซมซานกลับมา สังข์บอกให้สินไซแอบหลบในกองไม้ ยักษ์มาถึงหมดแรงขึ้นปราสาทไม่ได้แต่ได้กลิ่นมนุษย์ สุมนทาบอกว่ากลิ่นของตนแล้วพากลับขึ้นไปกล่อมนอนซึ่งอีกเจ็ดวันจึงจะตื่น สินไซชวนอากลับ สุมนทาทำอิดเอื้อนต่อรองไปเรื่อยๆ จนสินไซบังคับ นางก็ต่อรองพอลงจากปรางค์ก็บอกว่าลืมผ้าสไบ กลับขึ้นไปปลุกยักษ์ให้ตื่น สินไซไปพาออกมา ครั้งที่สองมาถึงครัวบอกว่าลืมปิ่นปักผม ครั้งที่สามถึงประตูเมืองบอกว่าลืมซ้องแซมผม สินไซไปตามกลับมาจนพาออกพ้นเมือง แล้วพาไปซ่อนในถ้ำ จากนั้นกลับไปเมืองอโนราชเพื่อปราบยักษ์ได้ยินเสียงกรนจึงเข้าไปตัดคอขาดกระเด็น จากนั้นก็ฟันร่างแยกออกเป็นสองท่อน แต่ร่างยักษ์กลับกลายเป็นเจ็ดร่าง พอฟันอีกกลับกลายเป็นสี่สิบเก้าร่าง เป็นเท่าทวีคูณเช่นนี้จนเป็นแสนเป็นล้านร่าง แต่ยิ่งรบยิ่งตาย ท้าวกุมภัณฑ์จึงขอพักรบชั่วคราว สินไซจึงยิงศรไปแจ้งให้สีโหทราบ สีโหจึงรีบเดินทางมาช่วยร่วมรบ ยักษ์กุมภัณฑ์นำทัพออกตามไปรบกับสินไซโดยมีกองทัพจำนวนมาก ยักษ์แปลงเป็นไก่มาอุ้มเอานางสุมนทาไปได้ สินไซยิงศรถูกไก่ตายหมดเหลือแต่ไก่กุมภัณฑ์อุ้มไปพร้อมกับให้ยักษ์หมื่นตนมาขวาง สีโหจึงร้องหรือเปล่งสีหนาทจนแก้วหูยักษ์แตกตาย ได้นางสุมนทาคืน ก่อนกลับ นางสุมนทาขอร้องให้ตามไปรับนางสีดาจันธิดาของตน ที่อยู่กับวรุณนาคเมืองบาดาล พระอินทร์จึงสร้างปราสาทชั่วคราวให้พัก สีโหกลับไปเฝ้าท้าวทั้งหก ส่วนสังข์กับสินไซเดินทางไปเมืองพญานาคท้าพนันเล่นสกากัน สินไซชนะแต่พญานาคไม่ทำตามสัญญา รบกันสินไซยิงศรไปให้ครุฑมาช่วย นาคยอมแพ้ สินไซจึงสั่งสอนแนวทางปกครองบ้านเมือง (14 ประการ) แล้วพานางธิดาจันกลับขึ้นมาพบแม่สุมนทา แล้วมอบหมายให้ท้าว วันนุรา (แปลว่าหัวใจของเผ่าพันธุ์) ให้ครองเมืองอโนราช พร้อมกับสั่งสอนแนวทางปกครองให้แก่ท้าววันนุรา (15 ประการ) แล้วพากันเดินทางกลับไปถึงที่พักของสีโหกับท้าวทั้งหก สังข์กับสีโหเดินทางไปพบแม่ที่ปราสาทกลางป่า ส่วนสินไซ สุมนทา สีดาจันเดินทางจะกลับเมืองเป็งจาลพร้อมท้าวทั้งหก พอมาถึงน้ำตก ท้าวทั้งหกผลักสินไซตกเหว นางสุมนทาไม่เชื่อจึงเอาสิ่งของสามอย่างคือปิ่นปักผม ซ้องประดับผมและผ้าสไบซ่อนไว้ที่หน้าผาพร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าสินไซไม่ตายขอให้ได้ของสิ่งเหล่านี้กลับคืน จากนั้นเดินทางกลับไปถึงเมือง ส่วนสินไซ พระอินทร์มาอุ้มขึ้นจากน้ำ รดด้วยน้ำเต้าแก้วแล้วพาไปส่งที่ปราสาทในป่า จึงได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้งทั้งสังข์ สีโห สินไซ และแม่จันทา นางลุน ส่วนท้าวกุดสะราดดีใจมาก ต้อนรับคณะอย่างยิ่งใหญ่ ท้าวทั้งหกเล่าเรื่องราวการผจญภัยให้บิดาฟังพร้อมกับบอกว่าอย่าเชื่อนางสุมนทาเพราะอาจจะยังติดไอยักษ์อยู่ ส่วนนางสุมนทาก็เล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมกับบอกคำอธิษฐาน ท้าวกุดสะราดไม่ทราบจะเชื่อใคร พระอินทร์ดลใจให้พวกเรือสำเภาเก็บของสามสิ่งไปให้ท้าวกุดสะราด เรื่องทั้งหมดจึงชัดเจนขึ้น ท้าวกุดสะราดสั่งให้จับท้าวทั้งหก แม่ทั้งหก หมอโหร หมอเสน่ห์ ไปคุมขัง จากนั้นจึงเสด็จเชิญนางจันทา นางลุนพร้อมโอรสกลับวัง มีการตัดพ้อต่อว่ากันจนเสียใจระทมใจจนสลบไปกันทั้งป่า สินไซจึงเชิญพระอินทร์นำน้ำเต้าแก้วมารดให้ฟื้น ในที่สุดสินไซก็ยอมรับที่จะครองเมืองเพื่อสร้างบารมีโพธิญาณ สินไซได้สั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายเลิกเบียดเบียนกัน แล้วทั้งหมดเดินทางกลับเข้าเมืองเฉลิมฉลอง ได้พระนามใหม่
สินไซครองเมืองไปขอนางเจียงคำมาเป็นมเหสีต่อมาได้นามว่านางศรีสุพรรณ เมืองอุดรกุรุทวีป เมืองอมรโคยาน ต่างส่งราชธิดามาให้เป็นคู่ครองของสินไซ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข พืชภัณฑ์อาหารอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกันก็เลิกเป็นศัตรู นาคไม่ข่มเหงครุฑ พังพอนไม่สู้กับงู งูไม่กินกบเขียด แมวไม่กินหนู ทุกสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ต่างคนต่างอยู่ ประชาชนและสัตว์ต่างอยู่สงบมีศีลธรรม
ท้าววรุณนาคกลับเมืองนาคแล้ว คิดถึงสีดาจันมากจนป่วย ชาวเมืองจึงลงความเห็นให้มาขอนางสีดาจันคืนไปเป็นมเหสี สินไซอนุญาต สีดาจันกลับไปครองเมืองกับวรุณนาคอย่างมีความสุข
เรื่องราวฉบับของท้าวปางคำจบลง โดยบอกว่าสินไซคือพระพุทธองค์ ท้าวทั้งหกคือเทวทัต สีโหคือพระโมคคัลลาน์ ยักษ์กุมภัณฑ์คือพญามารที่ขี่ช้างมารบกวนพระพุทธองค์นั่นเอง เรื่องราวจบลงเพียงเท่านี้ ดังว่า “อันว่าปางคำเจ้า ทรงยานเขียนฮูป ยกแยงถ้วน ถวายไว้แว่นแยง แท้แล้ว ฯ บัดนี้นาคสะดุ้ง กิ้งก่อมใสสนิท เป็นปะริโยสาน พิบบอระบวนแล้ว ยุติไว้พญาคำนาคเครื่อง แล้วท่อนี้ถวายไว้ที่ควร ก่อนแล้ว” มีผู้แต่งต่อ
กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณ เวลาผ่านไปเจ็ดปี ไม่เห็นยักษ์กุมภันฑ์ไปส่งบรรณาการ จึงลงมาถามตรวจดูพบว่าวันนุราครองเมืองอยู่และเล่าเรื่องราวให้ฟัง ท้าวเวสสุวรรณจึงรดน้ำชุบชีวิตยักษ์กุมภัณฑ์คืนมาแล้วสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ยักษ์ไม่เชื่อเหาะไปแปลงเป็นแมลงวันเขียวอุ้มเอานางสุมนทาและเอาสินไซไปขังไว้ในคอกเหล็กจะต้มกิน สีโหและสังข์ทราบจึงตามไปช่วย สีโหแปลงเป็นยักษ์เข้าไปปะปนกับทหาร สังข์แปลงกายเป็นเขียดอีโม้ไปอยู่ในถังน้ำนางยักษ์ที่ตักไปจะต้มสินไซ และลงไปในกระทะ ขณะที่น้ำกำลังร้อนจึงทำให้กระทะคว่ำ หมู่ยักษ์กระโดดหนี สีโหได้โอกาส จึงยื่นดาบและศรให้สินไซในกรง สินไซใช้ตัดออกมาได้แล้วต่อสู้กับยักษ์เป็นสงครามใหญ่ (โครงเรื่องข้างบนนี้คล้ายเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ ตอนพระรามถูกอุ้มไปขังไว้ในดงตาล นางพิรากวนไปตักน้ำมาจะต้ม หนุมานแปลงกายแฝงเข้าไปช่วย) สินไซไม่อยากรบขอเจรจายุติศึกเพราะไม่ได้โกรธแค้นใคร ยักษ์ยิ่งโกรธยกภูเขาขว้างใส่ สินไซแผลงศรไป สังข์กระโดดกัดยักษ์ สีโหคำรามก้องเสียงดังไปถึงชั้นพรหม ยักษ์ยิ่งตายมากยิ่งเกิดใหม่มาก พระอินทร์ต้องลงมาเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาโดยใช้หลักการแบบเจ้าโคตร คือ หนึ่งไม่ชี้ว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก สอง ทุกชีวิตก็รักชีวิตตน ดังนั้นไม่ควรเบียดเบียนชีวิตอื่น ให้ระงับการจองเวร อย่าใช้ความเก่งกล้าสามารถไปก่อเวร และสาม ควรประนีประนอมสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ให้รักษาความเป็นญาติพี่น้องต่อไป รักษาประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงตามนี้ จากนั้น ยักษ์กุมภัณฑ์ก็กลับเมืองพร้อมกับนำทรัพย์สินเงินทองมาสู่ขอนางสุมนทาตามประเพณี ท้าวกุดสะราดยกให้แล้วทั้งสองนครก็จะมีความสุขสงบต่อไป ก่อนแยกย้ายกันกลับเมืองสินไซได้ประทานโอวาทเรื่องทศพิธราชธรรมแก่นักปกครองทั้งหลาย ต่อมาสีโห ขอลาไปอยู่ป่าตามธรรมชาติของตน นางอุดรกุรุทวีปได้โอรสชื่อว่าสังขราชกุมาร ส่วนนางศรีสุพรรณได้ลูกสาวชื่อ สุรสา ต่อมาทั้งคู่ได้อภิเษกสมรส ครองเมืองต่อจากสินไซ นครเป็งจา จึงร่มเย็นเป็นสุขสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น