ความหมาย
ปริศนา หมายถึง การตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยผูกขึ้นเป็นประโยคที่สัมผัสคล้องจองสั้น ๆ แบบร้อยกรอง เนื้อหาของปริศนาจะซ่อนจุดสำคัญของปัญหาไว้ในคำเหล่านั้น เรียกว่าซ่อนเงื่อน หรือซ่อนปมของปัญหาที่นำมาทายเพื่อให้เกิดความสนุกในการทายหรือไขปัญหาปริศนาเป็นคำถามที่ผูกขึ้นจากคนและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน
วิธีผูกปริศนาบางครั้งใช้วิธีการเปรียบเทียบเป็นผลให้ผู้ฟังหรือผู้ทายเกิดความคิด เกิดจากเปรียบเทียบในเรื่องของความเหมือนและความแตกต่างก่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และเกิดความสนุกสนาน
การเล่นปริศนาอาจเป็นการทายด้วยคำพูด ภาพลายแทง บางครั้งปริศนาก็อาจเป็นท่าทางโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด เช่น ปริศนาใบ้ (บุปผา ทวีสุข. ๒๕๓๐ : ๗๐)
จุดมุ่งหมายของปริศนาคำทาย
จุดมุ่งหมายของปริศนามีดังนี้
1. เพื่อพักผ่อนหย่อนอารมณ์
2. ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสติปัญญา
3. เพื่อให้ทราบภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย วัฒนธรรม ความเชื่อ
4. เพื่อสอนให้เด็กรู้จักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ลักษณะเนื้อหาของปริศนาคำทาย
เนื้อหาปริศนาคำทายส่วนใหญ่จะผูกเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เช่น เรื่องดินฟ้าอากาศ พืช สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย งานอาชีพ ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี
การเล่นปริศนาคำทาย
ปริศนาคำทายของไทยเรามีการเล่นอยู่ทั่วไปทุกท้องถิ่น ลักษณะการเล่นก็คล้ายๆ กัน เป็นเเต่ใช้ถ้อยคำแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น การเรียกชื่อการเล่นผิดเพี้ยนกัน เช่น ภาคเหนือ เรียกว่าเล่นตวาย ภาคอีสาน เรียกกันว่า คำทวย การขึ้นต้นปริศนาก็ขึ้นต่างกันดังนี้
ภาคกลาง จะขึ้นต้นทายว่า อะไรเอ่ย เช่น อะไรเอ่ย ที่ลุ่มมีหนอง ที่ดอนมีน้ำ
(รังผึ้ง)
ภาคเหนือ ขึ้นต้นทายว่า อะหยังเอ๊าะ เช่น อะหยังเอ๊าะ ไก่แม่ลายตายแจ้น้ำ (ไซ)
ภาคอีสาน ขึ้นต้นทายด้วยคำถามว่า แม่นหยัง หรือ แม่นหยังเอ่ย เช่น แม่นหยังเอ่ย
ตัดกก บ่ตาย ตัดปลายบ่เหี่ยว (ผม) แม่นหยังเอ่ย บาดไปท่อไฮ่นา
บาดมาท่อก้อนเส้า (แห)
ภาคใต้ ขึ้นต้นคำทายว่า การั่ย หรือ ไอ้ไหรหา เช่น ไอ้ไหรหา เสาสองเสา
จากสองตับนอนไม่หลับลุกขึ้นร้องเรือ (ไก่)
ระยะเวลาและวิธีการเล่นปริศนาคำทาย
การเล่นปริศนา เวลาที่เล่นโดยทั่วไปมาเล่นรวมกลุ่มกัน ในเวลาพักผ่อน เช่น หลังจากรับประทานอาหารเย็น เวลาว่างจากการงาน หรือ เวลาที่มีงานที่มีคนมารวมกัน เช่น ในงานตรุษสงกรานต์ งานบวชนาค งานศพ หรือทำบุญต่าง ๆ
วิธีการเล่นทายปริศนาอะไรเอ่ย ทุกท้องถิ่นมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ แบ่งเป็นสองฝ่ายพลัดกันเป็นฝ่ายถามกับฝ่ายตอบ ถ้าถามแล้วตอบไม่ได้ก็จะมีการบอกใบ้กันบ้าง และหากบอกใบ้แล้วยังตอบไม่ได้ผู้ตอบจะต้องยอมแพ้ ทางภาคเหนือเรียกว่า เน่า ภาคกลางเรียกว่า ยอม ภาคอีสาน เรียกว่า ยอม ฝ่ายถามจะเฉลยคำตอบต่อเมื่อต้องทำตามข้อแม้ต่าง ๆ เช่น เขกเข่า ให้กินน้ำ กินขนมจนเกินอิ่มหรือให้สัญญาต่าง ๆ มากมาย
ลักษณะโครงสร้างปริศนาและการใช้ถ้อยคำ
โครงสร้างปริศนา การทายปริศนาอะไรเอ่ยจะมี ๓ ส่วน คือ
๑. ส่วนนำ คือ คำถามที่ว่า อะไรเอ่ย ตอนขึ้นต้นต้องขึ้นอย่างนี้ทุกครั้งเพื่อเป็นคำถามนำให้ผู้ตอบได้เตรียมตัวตั้งใจฟังปริศนาให้ชัดเจน เพื่อจะคิดตอบคำถาม
๒. ส่วนเนื้อหา คือ ตัวปริศนา ซึ่งจะบอกถึงลักษณะของสิ่งที่ทาย โดยเปรียบเน้นที่รูปร่างลักษณะพิเศษ ประโยชน์ใช้สอย ความหมาย หรือลักษณะต่าง ๆ เช่น ขนาด นิสัย กลิ่น เสียง หรือกิริยาอาการต่าง ๆ ของสิ่งที่เป็นตัวปริศนาที่นำมาเป็นคำทาย
๓. ส่วนลงท้าย คือ ส่วนที่ขยายความ บอกใบ้คำตอบ เร่งเร้าให้คิดทายหรือให้กำลังใจให้รางวัลแก่ผู้ตอบ ส่วนที่สามของปัญหานี้อาจไม่มีก็ได้ หรือบางทีกลับไปมีบอกใบ้ใช้ตอบกันแทนดังตัวอย่าง
อะไรเอ่ย งูอยู่ในหนอง คาบทองเอามาให้ น้ำแห้งทองหาย เป็นอะไรทายมา (ตะเกียง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น