นิทาน
มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า "นิทาน น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป" ลักษณะของนิทานนั้น เป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาร้อยแก้วไม่ใช่ร้อยกรอง เล่ากันด้วยปากสืบกันมาเป็นเวลาช้านาน แต่ต่อมาในระยะหลังเมื่อการเขียนเจริญขึ้น ก็อาจเขียนขึ้นตามเค้าเดิมที่เคยเล่าด้วยปากเปล่า อีกทั้งไม่ปรากฎว่าผู้เล่าดั้งเดิมนั้นเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่า ฟังมาจากผู้เล่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง
การแบ่งประเภทนิทาน
๑. เทวปกรณ์ หรือเทพปกรณัม เป็นเรื่องอธิบายถึงกำเนิดของจักรวาล โครงสร้างและระบบของจักรวาล มนุษย์ สัตว์ ปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น ลม ฝน กลางวันกลางคืน ฯลฯ ตลอดจนพิธีกรรมการประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ
สำหรับนิทานพื้นบ้านของไทยที่กล่าวถึงโลก จักรวาล เทวดา กำเนิดมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของเทวดาและของผู้ครองแผ่นดิน มีอยู่บ้าง เช่น เรื่องเมขลารามสูร เรื่องจันทคราส และสุริยคราส เรื่องพญาคันคาก (พญาแถน) เป็นต้น
๒. นิทานศาสนา มีจุดมุ่งหมายในการสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน แนะแนวทางประพฤติปฏิบัติ สร้างค่านิยมและบรรทัดฐานทางอ้อมให้แก่สังคม ถ้าเป็นนิทานไทย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนรกสวรรค์ หรือเรื่องราวของบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา โครงเรื่องจะยึดหลักพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
นิทานศาสนาของไทย จะมีที่มาจากพุทธประวัติ อรรถกถาชาดก ปัญญาสชาดก โดยมีตัวละครเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ บุคคลสำคัญในศาสนาพุทธ เช่น องคุลีมาล นางวิสาขา เป็นต้น
๓. นิทานคติ คติ หมายถึง แนวทางหรือแบบอย่าง นิทานคติเป็นเรื่องขนาดไม่ยาวนัก การดำเนินเรื่องไม่ซับซ้อน ตัวละครอาจเป็นคนหรือสัตว์ก็ได้ เรื่องหนึ่ง ๆ อาจมีตัวละครประมาณ ๒-๔ ตัว แนวคิดที่ปรากฎในนิทานคือคุณค่าของจริยธรรมและผลแห่งการประกอบกรรมดี และกรรมชั่ว กรรมดีที่นำผลดีมาให้มักได้แก่ ความกตัญญูรู้คุณ ความเมตตากรุณา ความเคารพเชื่อฟัง ความซื่อสัตย์ ฯลฯ ส่วนกรรมชั่วที่นำผลชั่วมาให้ ก็คือการกระทำที่ตรงกันข้าม ได้แก่ ความไม่กตัญญูรู้คุณ ความใจร้ายโหดเหี้ยม ความดื้อรั้น ความทุจริตคดโกง ความทรยศ ฯลฯ
น่าสังเกตว่าการเล่านิทานคตินั้นผู้เล่ามักชี้ให้เห็นผลดีและผลร้ายของกรรมในตอนท้ายเรื่องเสมอ
๔. นิทานมหัศจรรย์ หรือเทพนิยาย ตามรูปศัพท์ทำให้เข้าใจว่า เป็นนิทานเกี่ยวกับเทวดานางฟ้า ตามที่จริงแล้วอาจไม่มีเทวดานางฟ้าก็ได้ แต่จะเป็นเรื่องราวของความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ ๔ ประการ คือ
4.1 เป็นเรื่องค่อนข้างยาว มีหลายอนุภาคหรือหลายตอน
4.2 ดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ไม่บ่งสถานที่หรือเวลาแน่นอน
4.3 ตัวละครเอกของเรื่องต้องผจญภัยหรือประสบชะตากรรม ได้รับความช่วยเหลืออาจแต่งงานแล้วเปลี่ยนฐานะดีขึ้น
4.4 เกี่ยวข้องกับอมนุษย์ อิทธิฤทธิ์หรือสิ่งมหัศจรรย์เหลือวิสัยมนุษย์
นิทานมหัศจรรย์ของไทย อาจจัดเข้าเป็นนิทานประเภทอื่นได้ เช่น นิทานศาสนา หรือนิทานคติและบางครั้งระบุสถานที่ ว่าเกิดที่ไหนก็มี ส่วนผู้ช่วยพระเอกนางเอกนั้นส่วนมากเป็นพระอินทร์ พระฤาษี สำหรับความมหัศจรรย์ที่พบในนิทานของไทยนั้น ได้แก่ การเหาะเหินเดินอากาศ การแปลงกาย การสาป การชุบชีวิต ของวิเศษ การเนรมิต เป็นต้น
ตัวอย่างนิทานมหัศจรรย์ของไทย ได้แก่ เรื่องปลาบู่ทอง สังข์ทอง พระสุธน ลักษณวงศ์ จันทะโครบ นางสิบสอง โสนน้อยเรือนงาม นางผมหอม การะเกด หงส์เหิน จำปาสี่ต้น ฯลฯ
๕. นิทานชีวิต มีลักษณะคล้ายคลึงกับนิทานมหัศจรรย์ตรงที่มีขนาดค่อนข้างยาว มีหลายอนุภาค หรือหลายตอน ที่ต่างกันก็คือ นิทานชีวิตดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแห่งความจริง มีการบ่งสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมีเรื่องอิทธิปาฎิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ แต่มีลักษณะที่ผู้อ่านผู้ฟังเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า
นิทานชีวิตของไทย จะเป็นเรื่องเล่ามีลักษณะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงนอกเหนือจากจะบอกชื่อและฐานะตำแหน่งของตัวละครอย่างชัดเจนแล้ว ยังระบุสถานที่เกิดเหตุด้วย สถานที่จะเป็นสถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย ตัวละครส่วนใหญ่เป็นคน อาจมีตัวละครที่เป็นสัตว์และอมนุษย์ เช่น ผีสางเทวดาบ้าง
เรื่องที่อาจถือว่าเป็นนิทานชีวิตของไทย ได้แก่ เรื่องพระลอ ไกรทอง ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น
๖. นิทานประจำถิ่น นิทานที่มีขนาดของเรื่องไม่แน่นอน บางเรื่องก็สั้นบางเรื่องก็ยาว บางเรื่องอาจมีอนุภาคที่สำคัญเพียงอนุภาคเดียว มักเป็นเรื่องแปลกพิสดาร ซึ่งเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นแล้วจริง ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตัวละครและสถานที่บ่งไว้ชัดเจน อาจเป็นเรื่องของบุคคลในประวัติ-ศาสตร์ หรือคนสำคัญของเรื่อง ตัวละครอาจเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์หรือผีสางนางไม้
นิทานประจำถิ่นของไทย เป็นเรื่องที่เล่าสืบกันมา มีเนื้อเรื่องเชื่อว่าเคยกิดขึ้นจริงและมักอธิบายความเป็นมาของสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น คือสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เช่น ทะเล ภูเขา แม่น้ำ เกาะ ฯลฯ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา เช่น เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ฯลฯ
นิทานท้องถิ่นของไทย อาจแบ่งแยกออกเป็น ๕ ประเภทดังนี้
1. นิทานเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เช่น นิทานอธิบายที่มาของแม่น้ำปิง
2. นิทานเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น ท้าวแสนปม
3. นิทานเกี่ยวกับสมบัติหรือสิ่งลึกลับ เช่น เรื่องทรัพย์สมบัติที่ป่าลำเกียว
4. นิทานชีวิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น เรื่องตาม่องล่าย
5. นิทานจากวรรณกรรมที่รู้จักกันดี เช่น เรื่องพระลอ
๗. นิทานอธิบายเหตุ เป็นเรื่องที่อธิบายถึงกำเนิดหรือความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ อาจอธิบายถึงการกำเนิดสัตว์บางชนิด สาเหตุที่สัตว์บางชนิดมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กำเนิดของพืช ดวงดาว มนุษยชาติหรือสถาบัน เรื่องประเภทนี้มักจะสั้นและเล่าอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะตอบคำถามว่าทำไมสิ่งนั้นจึงเป็นอย่างนั้น
นิทานอธิบายเหตุของไทยมีเล่ากันทุกถิ่น ส่วนมากเป็นนิทานขนาดสั้น แบ่งตามเรื่องที่อธิบายได้ ๔ ลักษณะ คือ
๑. อธิบายที่มาของชื่อ รูปลักษณะและส่วนประกอบของคน สัตว์และพืช เช่น เรื่องเหตุที่ควายไม่มีฟันบน เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ เหตุที่กามีสีดำ เหตุที่เสือตัวลาย เหตุที่นกตะกรุมหัวล้านและลิงตูดด้าน ฯลฯ
๒. อธิบายเกี่ยวกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น เรื่องดาวลูกไก่ เรื่องจันทคราส ฯลฯ
๓. อธิบายเกี่ยวกับของพิธีกรรม ขนบประเพณี เช่น เหตุที่คนภาคเหนือใช้ผักส้มป่อยในพิธีดำหัว ฯลฯ
1. อธิบายที่มาของสิ่งอื่น ๆ เช่น อาหารการกิน หรือข้าวของเครื่องใช้
๘. นิทานเรื่องสัตว์ เป็นเรื่องที่สัตว์เป็นตัวเอก นิทานเรื่องสัตว์โดยทั่วไปมักแสดงให้เห็นความฉลาดของสัตว์ชนิดหนึ่ง และความโง่เขลาของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง สัตว์ที่เป็นตัวเอกที่มีลักษณะเป็นตัวโกง เที่ยวกลั่นแกล้งเอาเปรียบคนอื่นหรือสัตว์อื่น ซึ่งบางทีก็ได้รับความเดือดร้อนตอบแทนบ้างเหมือนกัน ความน่าสนใจของเรื่องอยู่ที่ความขบขันจากการหลอกลวง หรือการตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากที่ไม่น่าเป็นไปได้ของสัตว์ อันเนื่องจากความโง่เขลา
นิทานเรื่องสัตว์ของไทย มักเป็นนิทานขนาดสั้น บางเรื่องมีลักษณะเป็นนิทานอธิบาย หรือนิทานคติด้วย อาจแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
๑. นิทานที่แสดงนิสัยสันดานแท้จริงของสัตว์ มุ่งแสดงให้เห็นว่าแม้สัตว์จะเปลี่ยนรูปร่างลักษณะ แต่สัตว์ก็มักไม่ทิ้งสันดานเดิมของมัน
๒. นิทานเกี่ยวกับสัตว์โง่ สัตว์ฉลาด และสัตว์เจ้าเล่ห์
๓. นิทานเกี่ยวกับสัตว์ที่ดี เช่น เป็นสัตว์กตัญญู เป็นสัตว์ที่มีใจโอบอ้อมอารี เป็นต้น
๙. นิทานเรื่องผี มีผีเป็นตัวเอกของเรื่อง แทบทุกสังคมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีต่าง ๆ มาก ผีบางเรื่องไม่ปรากฎชัดว่ามาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีผีบางประเภทเป็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วกลับมาหลอกหลอนผู้ที่มีชีวิตอยู่ ด้วยรูปร่างและวิธีการต่าง ๆ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องวิญญาณและเรื่องภูตผีของคนไทย ผีในเรื่องที่เล่ามีทั้งผีที่ดี ซึ่งให้ความช่วยเหลือ หรือคุ้มครอง หรือบอกลาภให้ และผีร้ายที่คอยหลอกหลอนรังควานคน ผีในนิทานไทยอาจแบ่งได้เป็น ๖ ประเภท คือ ผีคนตาย ผีบ้านผีเรือน (ผีปู่ย่าตายาย) ผีประจำต้นไม้ (นางไม้ รุกขเทวดา) ผีป่า (ผีกองกอย) ผีที่สิงอยู่ในร่างคน (ผีปอบ ผีกะ ผีโพลง) ผีเบ็ดเตล็ด หรือผีเร่ร่อน (ผีกระสือ ผีกระหาง ผีโขมด ผีเปรต)
๑๐. มุขตลก มักจะมีขนาดสั้น โครงเรื่องไม่ซับซ้อน มีเพียงอนุภาคเดียว ตัวละครอาจเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ได้ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ต่าง ๆ
การแบ่งประเภทมุขตลกของไทยตามลักษณะของเรื่อง อาจเป็นได้ ๒ ประเภทย่อย ๆ คือ
๑๐.๑ เรื่องที่มีลักษณะหยาบโลน ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับพรหมจรรย์กับราคะวิตถาร ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการล้อเลียนในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่คือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ พระและชี รวมทั้งผู้ที่เคยบวชเรียนนาน ๆ แล้วสึก และบรรดาเครือญาติซึ่งสังคมไม่ยอมรับ ได้แก่ ลูกเขยกับแม่ยาย พี่เขยกับน้องเมีย และแม่ผัวกับลูกสะใภ้ เป็นต้น
๑๐.๒ เรื่องที่ไม่หยาบโลน ได้แก่ เรื่องที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาด ความโง่ ความเกียจคร้าน เรื่องเกี่ยวกับต่างชาติต่างถิ่นบางเรื่อง รวมทั้งเรื่องโม้ด้วย
แนวคิดสำคัญที่ปรากฎบ่อยในมุขตลกของไทยมี ๗ ประการ คือ ความฉลาด ความโง่ ความเกียจคร้าน เรื่องเพศ คนพิการ ผู้มีฐานะสูงในสังคม และคนต่างถิ่นหรือต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของมุขตลกต้องตั้งอยู่บนความกลับตาลปัตรของชะตาชีวิต ความผิดกลายเป็นทางนำลาภ ความอปรกติและผิดประเพณีนิยมนำให้เกิดความหรรษา ทั้งนี้เพราะผู้ฟังไม่ถือสา
๑๑. นิทานเข้าแบบ หมายถึงนิทานที่มีแบบสร้างพิเศษ นิทานประเภทนี้โครงเรื่องมีความสำคัญเป็นรองของแบบสร้าง การเล่าก็เล่าเพื่อสนุกสนานของผู้เล่าและผู้ฟังโดยแท้
๑๑.๑ นิทานไม่รู้จบ นิทานประเภทนี้ไม่มีอะไรมาก มักเกี่ยวกับการนับผู้เล่าสามารถที่จะเล่าไปได้นานเท่าที่ผู้ฟังต้องการ โดยเรื่องไม่มีวันจบ ปรกติผู้ฟังมักจะรำคาญจนต้องบอกให้หยุดเล่า
นิทานไม่รู้จบของไทยมักเริ่มเรื่องด้วยการปูพื้นให้น่าสนใจ จนผู้ฟังตามฟังอย่างตั้งอกตั้งใจแล้ว พอถึงตอนหนึ่งก็จะหยุดเล่า ผู้ฟังคาดว่าน่าจะมีอะไรน่าสนใจต่อไป ก็จะคะยั้นคะยอให้เล่า ผู้เล่าก็จะเล่าออกมาทีละประโยค โดยเปลี่ยนจำนวนตัวเลขเท่านั้น จึงสามารถทำให้เล่าเรื่องไปได้โดยไม่รู้จบอย่างไรก็ตาม นิทานประเภทนี้นับว่ามีประโยชน์ในด้านการสอนการนับจำนวนให้แก่เด็ก ๆ
๑๑.๒ นิทานลูกโซ่ มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หรือเกี่ยวกับสิ่งหลาย ๆ สิ่ง มีการแจกแจงเรียงลำดับจำนวนเลขหรือวันเดือนปี
นิทานลูกโซ่ของไทยที่รู้จักกันดีก็คือ เรื่องยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทานลูกโซ่ของไทยน่าจะมีประโยชน์ในการฝึกความจำ โดยการเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น