คุณค่าของนิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้านมีคุณค่าหลายประการดังนี้
๑. นิทานให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นการผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้เวลาผ่านไปอย่างไม่น่าเบื่อหน่าย การเล่านิทานของไทย อาจจะเล่าสู่กันฟังในครอบครัว เช่น ปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ เล่าให้ลูกหลานฟังยามว่างหรือก่อนนอน
การเล่านิทานในโอกาสต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินเป็นการผ่อนคลายความเครียดในขณะทำงานหรือหลังจากที่ได้ทำงานหนักมาระยะหนึ่ง ทำให้เวลาแห่งภาวะที่จำเจหรืออึดอัดใจล่วงไปโดยไม่รู้สึกตัว การเล่านิทานมุขตลกในขณะทำงาน หรือในวงสนทนาเป็นการช่วยเพิ่มบรรยากาศให้มีรสชาติ และสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น
๒. นิทานช่วยกระชับความสัมพันธ์ ในครอบครัวเด็กบางคนอาจมองผู้ใหญ่ว่าเป็นบุคคลที่ขี้บ่นชอบดุด่า น่าเบื่อหน่ายหรือน่าเกรงขาม แต่ถ้าผู้ใหญ่มีเวลาเล่านิทานให้เด็กฟังบ้าง นิทานที่สนุก ๆ ก็จะช่วยให้เด็กอยากอยู่ใกล้ชิด ลดความเกรงกลัวหรือเบื่อหน่ายผู้ใหญ่ลง ผู้ใหญ่และเด็กก็จะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างดี แม้ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่กระทำกิจกรรมร่วมกัน การได้ฟังนิทานนอกจากจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างสนุกสนานไม่เบื่อหน่ายแล้ว การฟังนิทานด้วยกันหัวเราะสนุกสนานร่วมกัน ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความสนิทสนมกัน การจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มสัมพันธ์ในปัจจุบัน ในบางครั้งจะมีการแทรกการเล่านิทานเข้าไปด้วย
๓. นิทานให้การศึกษาและเสริมสร้างจินตนาการ โดยเหตุที่นิทานมีตัวละคร ซึ่งมีชีวิตจิตใจแบบมนุษย์เรา เด็กที่ได้ฟังนิทานจึงเท่ากับได้มีโอกาสเรียนรู้ลักษณะมนุษย์ การได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดจนการเอาชนะอุปสรรคของตัวละคร จะช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องของชีวิตมากขึ้น สามารถจะอดทนและพยายามหาทางเอาชนะ เมื่อต้องเผชิญอุปสรรคในชีวิตจริง
๔. นิทานให้ข้อคิดและคติเตือนใจ นิทานไม่ได้ให้แต่ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ฟังเท่านั้น มีนิทานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะนิทานคติ จะให้ข้อคิดในแง่ใดแง่หนึ่ง เป็นการช่วยปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ที่สังคมพึงประสงค์แก่ผู้ฟัง เช่น ให้ซื่อสัตย์ ให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ให้พูดจาไพเราะอ่อนหวานให้ขยันขันแข็ง ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น การสอนในนิทานนั้น ผู้เล่าจะแฝงข้อคิดไว้ในเรื่อง จึงทำให้คล้ายกับว่าผู้ฟังไม่ได้ถูกสอนโดยตรง นิทานไม่ใช่ให้ข้อคิดแต่เฉพาะเด็กเท่านั้น นิทานหลายเรื่องให้ข้อคิดแก่ผู้ใหญ่ในด้านความประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ในระเบียบอันดีงามของสังคม นิทานได้ชี้ให้เห็นลักษณะของบุคคลที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ของสังคม นิทานจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม
๕. นิทานช่วยสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมในอดีตในหลาย ๆ ด้าน เช่น ลักษณะของสังคมวิถีชีวิตของประชาชนในสังคม ตลอดจนประเพณี ค่านิยมและความเชื่อ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะปรากฎอยู่ในนิทานเสมอ ถ้าผู้ฟังหรือผู้อ่านนิทานได้รู้จักสังเกต วิเคราะห์นิทานต่าง ๆ เหล่านั้น ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจสภาพวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างแท้จริง นิทานเปรียบเสมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่ช่วยส่องให้เห็นตนเองว่าเป็นอย่างไร นิทานจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น